ข้ออักเสบ (Arthritis) คือโรคที่มาพร้อมอาการปวด บวม อักเสบตามข้อต่อที่แสนทรมาน ส่งผลให้ผู้ป่วยประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะยามนั่ง ยามเดิน หรือยามวิ่ง โรคนี้พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย นอกจากจะส่งผลกระทบกับข้อต่อแล้ว โรคข้ออักเสบบางชนิดยังทำให้หัวใจ ดวงตา ปอด ไต และผิวหนังมีปัญหาได้อีกด้วย และหากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจร้ายแรงถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิตได้เลยทีเดียว โรคข้ออักเสบส่วนใหญ่อาจไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่นอกจากการรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดที่นิยมทำกันแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลี่ยงอาหารบางชนิดก็อาจช่วยได้ แล้วเมื่อเป็น ข้ออักเสบ อาหารที่ควรเลี่ยง จะมีอะไรบ้าง Hello คุณหมอ จะพาไปดูกันเลย
อาหารที่ควรเลี่ยง หากคุณเป็น ข้ออักเสบ
น้ำตาล
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Clinical Nutrition ระบุว่า น้ำตาลที่ผ่านกระบวนการ สามารถกระตุ้นการหลั่งไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถก่อให้เกิดการอักเสบได้ คุณจึงควรงดเติมน้ำตาลในอาหาร รวมไปถึงไม่บริโภคขนม หรือเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ ช็อกโกแลต ลูกอม น้ำอัดลม หรือแม้แต่น้ำผลไม้บางยี่ห้อ
ก่อนซื้ออาหารชนิดใด ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีน้ำตาลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำเชื่อมข้าวโพด ฟรุกโตส (Fructose) ซูโครส (Sucrose) มอลโตส (Maltose) ผสมอยู่หรือไม่ ปริมาณมากน้อยเพียงใด
เนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดงที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ถือเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง และการอักเสบ อีกทั้งเนื้อสัตว์ที่ถูกนำไปประกอบอาหารโดยใช้ความร้อนสูง เช่น การปิ้ง การย่าง การทอด ยังก่อให้เกิด Advanced Glycation End Products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสารพิษที่ไปทำลายโปรตีนบางชนิดในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเช่นกัน
อาหารแปรรูปและอาหารทอด
อาหารแปรรูปและอาหารทอด เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไส้กรอก โดนัท อาหารฟาสต์ฟู้ด ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าแช่แข็ง มักมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งไขมันชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ทั่วร่างกาย
นอกจากนี้ อาหารทอดยังมีสาร AGEs ที่ทำให้ร่างกายอักเสบได้ง่ายเช่นกัน ทั้งยังมีการศึกษาของ Icahn School of Medicine at Mount Sinai ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชี้ว่า การบริโภคอาหารแปรรูปและอาหารทอดให้น้อยลดไม่เพียงช่วยป้องกันการอักเสบ แต่ยังช่วยฟื้นฟูกลไกป้องกันในร่างกายได้อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันสูง
ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันสูง เช่น ชีส นมไขมันเต็มส่วน เนย ครีมชีส เนยเทียม มายองเนส มีสาร AGEs และไขมันอิ่มตัวสูง ทั้งยังมีโปรตีนบางชนิดที่อาจทำให้เนื้อเยื่อรอบข้อต่อระคายเคือง จึงถือเป็นอีกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ที่คุณควรบริโภคให้น้อยลง หรืองดบริโภคหากทำได้ หรือต้องเลือกบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา
คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี
อาหารที่ทำจากแป้งหรือธัญพืชขัดสี เช่น ขนมปังขาว แครกเกอร์ ข้าวขาว ล้วนแต่เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี (Refined carbohydrates) ซึ่งมีค่าไกลซีมิก (Glycemic index) หรือค่าดัชนีน้ำตาลสูง จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดสาร AGEs ด้วย ซึ่งทั้งน้ำตาลและสาร AGEs ล้วนแต่เป็นตัวการที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น
ผงชูรส
โมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate; MSG) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ผงชูรส” จัดเป็นเครื่องปรุงรสที่นิยมใช้ในอาหารไทยและอาหารเอเชีย รวมไปถึงเป็นส่วนประกอบในเครื่องปรุงรสชนิดอื่น ๆ เช่น ซอสปรุงรส ผงปรุงรส น้ำสลัด ซุปก้อน ซึ่งผงชูรสนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณควรหลีกเลี่ยง เพราะสามารถทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรังได้
เกลือ
ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปส่วนใหญ่ที่คนนิยมซื้อมาบริโภคมักเติมเกลือในปริมาณมากเพื่อทำให้อาหารเน่าเสียช้าลง สามารถเก็บเอาไว้บริโภคได้นานขึ้น ซึ่งการบริโภคเกลือหรือโซเดียม (Sodium) มากเกินไปก็อาจทำให้ข้ออักเสบได้เช่นกัน
ดังนั้น ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าปริมาณโซเดียมอยู่มากน้อยเพียงใด และควรงดเติมเกลือหรือเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสมะเขือเทศ ด้วย
น้ำมันบางชนิด
น้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลืองอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 6 (Omega 6 fatty acid) ซึ่งดีต่อสุขภาพหากร่างกายได้รับในปริมาณที่พอเหมาะ แต่หากเราบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 มากเกินไป อาจไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารเคมีบางชนิดที่ทำให้เกิดการอักเสบได้
ไม่ใช่แค่น้ำมันที่ยกตัวอย่างข้างต้น แต่เครื่องปรุงรสที่นิยมบริโภค เช่น มายองเนส น้ำสลัดหลายชนิด ก็มีกรดไขมันโอเมก้า 6 สูง จึงควรลดหรืองดบริโภคเช่นกัน
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
ปัจจุบันใคร ๆ ก็ทราบกันดีว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ถือเป็นตัวการหลักของปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงโรคข้ออักเสบด้วย การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเกาต์ ส่วนการสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ จึงไม่เพียงแต่จะบรรเทาหรือป้องกันอาการข้ออักเสบ แต่ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งตับ โรคหัวใจ ได้อีกด้วย
[embed-health-tool-bmr]