วันนี้พวกเราเอาใจผู้ที่รักและชื่นชอบกลิ่นไอของชาจากธรรมชาติ และกลิ่นมะลิหอมๆ ไร้สารเจือปน ซึ่งคุณก็สามารถทำเองได้ง่ายๆ และใช้เวลาไม่นาน วันนี้ Hello คุณหมอ ขอแนะนำวิธีการทำ ชามะลิ โดยมีคุณสมบัติในการบำรุงสมอง ในการกระตุ้นความจำให้ดียิ่งขึ้น และยังรับประทานได้ทุกเพศทุกวัยอีกด้วย
ชามะลิ กับคุณประโยชน์มากมาย ที่คุณควรรู้ไว้
ชามะลิ (Jasmine Tea) เดิมแล้ว ดอกมะลิ เป็นพืชดอกชนิดหนึ่งที่ส่งกลิ่นหอมให้ความสดชื่นเมื่อเราสูดดม แต่พอนำมาทำเป็นเครื่องดื่มโดยถูกสกัดในรูปแบบของชา ที่มีรสชาติหอมหวานอ่อนๆ กำลังดี และเพิ่มการทำงานของสมองจากคาเฟอีนที่อยู่ในชามะลิ หากคุณดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสมองจะทำการปลดปล่อยสารกระตุ้นประสาทออกมา เช่น โดพามีน (Dopamine) , เซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว ปรับปรุงด้านความจำให้มีประสิทธิภาพ ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ นอกจากการบำรุงสมองแล้ว ชามะลิยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย ดังนี้
มีสารต้านอนุมูลอิสระ และป้องกันโรคหัวใจ
ชามะลิเต็มไปด้วยสารประกอบจากพืชที่มีประสิทธิภาพ เรียกว่า สารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ปกป้องเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย และยังรักษาโรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ สารโพลีฟีนอลยังเป็นตัวช่วยในการลดภาวะที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจ เมื่อดื่มชามะลิทุกวันในปริมาณ 710 มล. ทำให้ความเสี่ยงนี้ลดลงได้ถึง 19 % เลยทีเดียว
ช่วยในการลดน้ำหนัก
ในการศึกษาหนึ่งตรวจสอบว่าดอกมะลิที่ถูกสกัดเป็นชามีสารที่ช่วยในการเผาผลาญไขมัน 10 – 16 % และเบิร์นแคลอรี่ได้ถึง 70 – 100 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งเป็นตัวช่วยหนึ่งในการลดน้ำหนัก และยังบำรุงสุขภาพภายในของเราด้วย
สุขภาพช่องปากดูดีขึ้น
การดื่มชามะลิสามารถช่วยป้องกันฟันผุ กำจัดคราบจุลินทรีย์แบคทีเรียที่ซ่อนตัวอยู่ในช่องปาก และลดกรดที่ทำลายชั้นเคลือบฟันซึ่งก่อให้เกิดการฟันกร่อนขึ้น
ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด
ผลการศึกษาของทีมวิจัยหนึ่งได้พิสูจน์ในเรื่องของการดื่มชาอย่างเป็นประจำของชาวญี่ปุ่น ค้นพบว่าการดื่มชาช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 51.6 % รวมถึงมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกว่าสารโพลีฟีนอล ยังยับยั้งเซลล์มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม
ผลข้างเคียงของชามะลิ หากรับประทานเกินควร
ถึงแม้ว่าชามะลิที่ถูกสกัดมากจากพืชธรรมชาติ 100% แต่ก็ยังคงมีสารคาเฟอีน (Caffeine) เจือปน ทำให้ผู้ที่บริโภคเกินควรเกิดอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายใจ วิตกกังวล และยังส่งผลไปยังกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะกับสตรีตั้งครรภ์ ควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ซึ่งมีความเสี่ยงมากในการแท้งบุตร
การรับประทานชามะลิได้อย่างปลอดภัย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรถึงปริมาณการดื่ม และข้อจำกัดบางอย่างที่ทางการแพทย์แนะนำเท่านั้น
ขั้นตอนการทำ ชามะลิ แสนง่าย ด้วยตัวคุณเอง
วัตถุดิบสำหรับการทำชามี ดังต่อไปนี้
- ดอกมะลิสด
- ใบชาแห้ง
- น้ำสะอาด
ขั้นตอนสำหรับการทำชามะลิ เริ่มจากการหมักใบชาแห้ง และดอกมะลิเข้าด้วยกัน
- นำใบชาแห้ง เทลงในขวดโหลที่มีฝาปิด
- นำดอกมะลิสด วางทับลงบนใบชาแห้งให้ทั่ว และนำใบชาแห้งทับดอกมะลิสดอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้กลิ่นนั้นติดใบชาก่อนนำไปต้ม
- หาสิ่งของใดก็ได้ที่คุณมีอยู่ในครัวเรือน เช่น กระปุกขนาดเล็กนำใส่ลงไปในขวด เพื่อเป็นแรงกดทับให้ใบชา และดอกมะลิสดเรียบแบน เป็นการให้กลิ่นของดอกมะลิแทรกซึมกระจายอย่างทั่วถึง จากนั้นปิดฝาให้ทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำมาต้ม
หลังจากที่ผ่านไปหนึ่งคืน คุณสามารถนำชาที่หมักไว้นำมาต้มเพื่อเป็นเครื่องดื่มได้ทันที โดยทำตามวิธีต่อไปนี้
- นำหม้อใส่น้ำสะอาดปริมาณ 8 ออนซ์ ตั้งไฟจนน้ำเดือด
- ตักชามะลิที่คุณนั้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 1 ช้อนชา ใส่หม้อลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
- สังเกตได้สีของน้ำต้มที่เริ่มเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ และมีกลิ่นหอมของดอกมะลิลอยขึ้นมา
- กรองเศษใบชา และดอกมะลิออกจากน้ำต้มเพื่อให้ได้น้ำชามะลิที่พร้อมดื่ม
[embed-health-tool-bmr]