backup og meta

ชีทเดย์ คืออะไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/03/2024

    ชีทเดย์ คืออะไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

    ชีทเดย์ (Cheat Day) หมายถึง ช่วงเวลาที่สามารถรับประทานอาหารตามใจชอบเป็นเวลา 1 วัน หลังจากควบคุมอาหารมาแล้วเป็นเวลา 6 วัน โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังลดน้ำหนักหรือควบคุมอาหาร อย่างไรก็ตาม ชีทเดย์มีข้อควรระวังอยู่บ้าง เพราะอาจเลือกรับประทานอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นเกินเกณฑ์เหมาะสมโดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนั้น ชีทเดย์ยังอาจเป็นสาเหตุของพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น โรคกินไม่หยุด และอาจส่งผลให้การลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักไม่ประสบความสำเร็จ

    ชีทเดย์ คืออะไร

    ชีทเดย์หมายถึงการหยุดควบคุมอาหาร 1 วัน หลังจากควบคุมอาหารมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เปรียบเสมือนการให้รางวัลตนเองหลังจากควบคุมอาหารสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ ชีทเดย์ไม่มีข้อกำหนดชัดเจน ดังนั้น อาหารและปริมาณอาหารที่เลือกบริโภค รวมถึงความถี่ของชีทเดย์ จึงขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ควบคุมอาหารอาจมีชีทเดย์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือหลังควบคุมอาหารมาแล้ว 6 วัน และอาจควบคุมปริมาณแคลอรี่ไม่ให้เกิน 150 เปอร์เซนต์ของจำนวนแคลอรี่ปกติในวันที่ควบคุมอาหาร รวมทั้งอาจเลือกออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

    นอกจากนี้ ผู้ที่ควบคุมอาหารบางรายอาจไม่มีชีทเดย์แต่เลือกรับประทานตามใจชอบเพียงบางมื้อหรือมีเพียงชีทมีล (Cheat Meal) แทน

    ประโยชน์ของชีทเดย์

    ประโยชน์ของชีทเดย์ต่อสุขภาพยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้นในชีทเดย์ อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเลปติน (Leptin) มากขึ้น โดยเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่ม ส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานดีขึ้น และอาจทำให้การควบคุมน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นอกจากนั้น นักจิตวิทยาและนักโภชนาการด้านการควบคุมอาหารเชื่อว่า ชีทเดย์อาจช่วยให้ผู้ที่ต้องการควบคุมอาหารหรือลดน้ำหนักสามารถควบคุมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนยิ่งขึ้น และมีกำลังใจที่จะควบคุมอาหารต่อไป

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดที่พิสูจน์ว่าชีทเดย์มีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือช่วยควบคุมน้ำหนักได้อย่างไร

    ชีทเดย์ ควรบริโภคกี่แคลอรี่

    ในชีทเดย์ สามารถรับประทานอาหารได้ตามความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่า เค้ก ไก่ทอด สเต๊ก น้ำอัดลม ไวน์ เบียร์ แต่ควรรับประทานแบบพอเหมาะ และควรบริโภคอาหารรวมแล้วทั้งวันให้พลังงานไม่เกิน 2,000 แคลอรี่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือชอบเคลื่อนไหวร่างกายอาจบริโภคได้มากกว่า 2,000 แคลอรี่

    ข้อควรระวังของ ชีทเดย์

    การหยุดควบคุมอาหาร 1 วันหรือชีทเดย์ มีข้อควรระวังดังนี้

    • ผลลัพธ์ของชีทเดย์ต่อการควบคุมอาหารอาจแตกต่างกันในแต่ละคน เพราะบางรายอาจรับประทานอาหารมากเกินไปจนส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจทำให้ความตั้งใจที่จะควบคุมอาหารลดลงหลังจากได้บริโภคของอร่อยต่าง ๆ
    • ไม่ควรมีชีทเดย์บ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้การควบคุมน้ำหนักยากขึ้น หรืออาจทำให้กลับไปมีน้ำหนักตัวเท่าเดิมได้ง่ายขึ้น
    • การรับประทานทุกอย่างที่ต้องการในชีทเดย์ อาจทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่มากเกินไป และทำให้การกลับไปควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ต้องการควบคุมอาหารควรรับประทานอาหารตามใจชอบในชีทเดย์เพียง 1-2 มื้อแทนการบริโภคทั้งวัน
    • ชีทเดย์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการบริโภคอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลในปริมาณมาก จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และต้องสอดคล้องกับปริมาณยาต้านเบาหวานหรืออินซูลินที่ใช้ในแต่ละวัน
    • ชีทเดย์อาจเป็นสาเหตุของโรคกินไม่หยุด หรือการรับประทานอาหารปริมาณมากผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติรูปแบบหนึ่ง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชีทมีลและโรคกินไม่หยุด เผยแพร่ในวารสาร Appetite ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นหญิงและชายจำนวนหนึ่ง พบข้อสรุปว่า วัยรุ่นชายนิยมบริโภคชีทมีล และการบริโภคชีทมีีลบ่อย ๆ สัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ รวมถึงอาการคล้ายโรคกินไม่หยุด อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ได้รับผลกระทบจากชีทมีล
    • แม้ว่าจะมีชีทเดย์ แต่ยังควรออกกำลังกายเป็นประจำตามแผนการควบคุมน้ำหนัก คือ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา