backup og meta

นกเขาไม่ขัน กินอะไรดี เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    นกเขาไม่ขัน กินอะไรดี เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

    นกเขาไม่ขัน หรือภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้เมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากโรคอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด รวมถึงการใช้ยาบางชนิด หากถามว่า นกเขาไม่ขัน กินอะไรดี? คำตอบคือ ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงบริเวณองคชาตได้สะดวกเพื่อช่วยให้องคชาตแข็งตัว เช่น กาแฟ ถั่วพิสตาชิโอ แตงโม

    นกเขาไม่ขัน คืออะไร

    นกเขาไม่ขัน หมายถึง ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย หรือภาวะที่องคชาตไม่แข็งตัวเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ หรือแข็งตัวได้ไม่นานเท่าปกติ ทำให้ไม่สามารถร่วมเพศได้ หรือไม่สามารถสร้างความสุขทางเพศได้ ซึ่งมักส่งผลให้ขาดความมั่นใจ รวมถึงอาจกระทบต่อการรักษาความสัมพันธ์กับคู่นอนหรือภรรยา

    โดยทั่วไป นกเขาไม่ขันมักพบในผู้ชายที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม อาจพบได้ในวัยรุ่นบางราย

    นอกจากนี้ นกเขาไม่ขันยังสัมพันธ์กับอารมณ์ ระดับฮอร์โมนในร่างกาย และการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาต โดยปัจจัยเสี่ยงของปัญหาสุขภาพนี้ ได้แก่ ความเครียด การสูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงการใช้ยาต้านเศร้าและยาต้านฮิสทามีน

    นกเขาไม่ขัน กินอะไรดี

    เมื่อมีอาการนกเขาไม่ขัน ผู้ชายควรเลือกบริโภคอาหารต่อไปนี้ ซึ่งอาจช่วยให้อาการนกเขาไม่ขันดีขึ้นได้

    กาแฟ

    คาเฟอีนในกาแฟมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือดแดงและกล้ามเนื้อเรียบบริเวณองคชาต ซึ่งส่งผลให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงองคชาตมากขึ้น การดื่มกาแฟจึงอาจช่วยให้องคชาตสามารถแข็งตัวได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องบทบาทของคาเฟอีนต่ออาการนกเขาไม่ขันในผู้ชายอเมริกัน เผยแพร่ในวารสาร PLoS One ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลของผู้ชายจำนวน 3,724 ราย ซึ่งมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และพบว่า ผู้ชายที่บริโภคคาเฟอีน 85-303 มิลลิกรัม/วัน มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอาการนกเขาไม่ชันเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่บริโภคคาเฟอีน 0-7 มิลลิกรัม/วัน

    ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคคาเฟอีนอาจช่วยลดความเสี่ยงอาการนกเขาไม่ขันได้ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคในปริมาณเทียบเท่ากาแฟ 2-3 แก้ว/วัน

    ถั่วพิสตาชิโอ

    ถั่วพิสตาชิโออุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใยอาหาร ไขมันไม่อิ่มตัว หรือสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ ดังนั้น การบริโภคถั่วพิสตาชิโอจึงอาจช่วยบรรเทาอาการ นกเขาไม่ขัน ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของถั่วพิสตาชิโอต่อการแข็งตัวขององคชาตและระดับไขมันในร่างกาย เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Impotence Research ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยให้ผู้ชายจำนวน 17 ราย ที่มีอาการนกเขาไม่ขันบริโภคถั่วพิสตาชิโอวันละ 100 กรัม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองมีสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น รวมถึงมีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมและคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง ในขณะที่คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) นั้นเพิ่มสูงขึ้น

    แตงโม

    แตงโมประกอบไปด้วยสารแอลซิทรูลีน (L-Citrulline) ในอัตราส่วน 1.6-3.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยแอลซิทรูลีนมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนยังไปองคชาตได้ดีขึ้น การบริโภคแตงโมจึงอาจมีส่วนช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของแอลซิทรูลีนต่อสมรรถภาพทางเพศ ตีพิมพ์ในวารสาร Urology ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยให้ผู้ชายจำนวน 24 ราย ที่มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในระดับไม่รุนแรง บริโภคยาหลอกเป็นเวลา 1 เดือน ตามด้วยแอลซิทรูลีนในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 1.5 กรัม เป็นเวลาอีก 1 เดือน แล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้

    เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยพบว่ายาหลอกช่วยให้สมรรถภาพทางเพศของผู้เข้าร่วมการทดลองดีขึ้นจำนวน 2 ราย ในขณะที่แอลซิทรูลีนช่วยบรรเทาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้เข้าร่วมการทดลองได้ 12 ราย

    นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองมีเพศสัมพันธ์ถี่ขึ้นระหว่างบริโภคแอลซิทรูลีนมากกว่าระหว่างบริโภคยาหลอก งานวิจัยนี้สรุปว่า การบริโภคสารแอลซิทรูลีนอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศระดับไม่รุนแรง แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

    นอกจากอาหารดังกล่าวยังมีอาหารอื่น ๆ ที่อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการนกเขาไม่ขัน ได้แก่

    • หอยนางรม
    • โกโก้และดาร์กช็อกโกแลต
    • กระเทียม
    • ปลาแซลมอน
    • พริก
    • น้ำมันมะกอก
    • มะเขือเทศ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา