backup og meta

อาหารย่อยง่าย สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    อาหารย่อยง่าย สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

    อาหารย่อยง่าย เป็นอาหารเพื่อสุขภาพรูปแบบหนึ่งที่ผ่านการปรุงสุก กรดต่ำ ใยอาหารต่ำ เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เคี้ยวและกลืนง่าย ซึ่งดีต่อระบบย่อยอาหาร ช่วยให้ทางเดินอาหารทำงานน้อยลง และลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม อาหารย่อยง่ายควรอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างครบถ้วน

    อาหารย่อยง่าย มีประโยชน์อย่างไร

    อาหารย่อยง่ายเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหารและลำไส้ จึงอาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร ดังนี้

  • หญิงตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อบำรุงร่างกายทั้งของคุณแม่และทารกในครรภ์ การรับประทานอาหารย่อยง่ายจึงอาจช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารเพื่อส่งไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน ร่างกายอาจสูญเสียน้ำและสารอาหารในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารย่อยง่ายเพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย
  • ลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบ เช่น โรคกรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะ อาการลำไส้แปรปรวน อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทางเดินอาหาร ซึ่งอาจทำให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง
  • ระบบทางเดินอาหารติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและสารอาหาร จนขาดพลังงานและต้องการได้รับอาหารเพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างเร่งด่วน
  • การผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือการผ่าตัดต่าง ๆ ในระหว่างการผ่าตัดร่างกายต้องสูญเสียเลือดและพลังงานในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารอย่างเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
  • กลุ่มอาการการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (Malabsorption Syndromes) ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น
  • อาหารย่อยง่าย ที่ดีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร

    ควรเน้นรับประทานอาหารย่อยง่ายที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลายและครบ 5 หมู่ โดยควรปรุงอาหารให้มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม เคี้ยวและกลืนง่าย รวมทั้งควรเลือกชนิดของอาหารที่ย่อยง่าย ดังนี้

    โปรตีนไขมันต่ำ

    เลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีเส้นใยกล้ามเนื้อน้อย อ่อนนุ่ม ไขมันต่ำ ไม่ติดหนังและมัน โดยตัวอย่างอาหารโปรตีนไขมันต่ำ อาจมีดังนี้

    • เนื้อปลาทุกชนิด เช่น แซลมอน ทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลากระป๋อง ทูน่ากระป๋อง
    • ไข่ เนื้อไก่ไม่ติดหนังและมัน
    • นมวัวไขมันต่ำและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ตรสธรรมชาติ โยเกิร์ตนมถั่วเหลือง

    ธัญพืชเส้นใยต่ำ

    ธัญพืชเส้นใยต่ำช่วยในระบบย่อยอาหารทำงานน้อยลงและย่อยง่ายมากขึ้น โดยการรับประทานใยอาหารไม่เกิน 2 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค

    สำหรับตัวอย่างอาหารธัญพืชเส้นใยต่ำ อาจมีดังนี้

    • โจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมปังปิ้ง มันฝรั่งต้ม มันฝรั่งหวาน ข้าวโอ๊ต
    • ถั่วต่าง ๆ และเมล็ดพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วลันเตา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เมล็ดเจีย ควินัว

    ผักปรุงสุก ผลไม้และน้ำผลไม้

    ผักปรุงสุก ผลไม้และน้ำผลไม้เป็นกลุ่มอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งเส้นใยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหาร แต่ควรนำผักไปปรุงสุกก่อนเพื่อให้เส้นใยอ่อนตัวลง ทั้งยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับผัก

    ตัวอย่างผักปรุงสุก ผลไม้และน้ำผลไม้ อาจมีดังนี้

    • ผักปรุงสุก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง แครอท ฟักทอง อะโวคาโด เห็ด ผักบุ้ง
    • ผลไม้ เช่น กล้วย แตงโม มะละกอ มะม่วงสุก แคนตาลูป ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม
    • น้ำผลไม้สดที่ไม่เติมน้ำตาล เช่น น้ำแตงโม น้ำสตรอว์เบอร์รี่ปั่นสด น้ำมะพร้าว น้ำส้มคั้นไม่เปรี้ยว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา