backup og meta

อาหาร ที่ ผู้ ป่วย เบาหวาน ทาน ได้ และอาหารที่ควรเลี่ยง

อาหาร ที่ ผู้ ป่วย เบาหวาน ทาน ได้ และอาหารที่ควรเลี่ยง

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป และอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องใส่ใจอาหารที่รับประทาน เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงเกินไปจนทำให้หลอดเลือดและระบบร่างกายผิดปกติ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างเบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงขา โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น อาหาร ที่ ผู้ ป่วย เบาหวาน ทาน ได้ ควรเป็นอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลไม่เลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และคงที่ มีใยอาหารสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทำให้อิ่มได้นานและไม่หิวบ่อยจนต้องกินจุกจิกระหว่างมื้อหรือกินมื้อดึก

[embed-health-tool-bmi]

อาหาร ที่ ผู้ ป่วย เบาหวาน ทาน ได้

อาหาร ที่ ผู้ ป่วย เบาหวาน ทาน ได้ในปริมาณที่เหมาะสมโดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงจนเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย อาจมีดังนี้

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารจำพวกแป้งที่เป็นแหล่งพลังงานหลักให้กับร่างกาย โดยจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลหรือกลูโคสและหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสีหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex carbohydrates) ที่มีเส้นใยอาหารสูงและใช้เวลาย่อยนานกว่าและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้ากว่าคาร์โบไฮเดรตขัดสี และอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

ตัวอย่างอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

  • ข้าวกล้อง
  • ข้าวซ้อมมือ
  • ข้าวโอ๊ต
  • ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์
  • ข้าวฟ่าง
  • ควินัว

อาหารประเภทผักและผลไม้

ผักและผลไม้เป็นอาหารที่มีสารอาหารหลายชนิด ทั้งแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม และวิตามิน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี รวมไปถึงสารพฤษเคมีหลากหลายที่มีคุณสมบัติต้านอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีเส้นใยอาหารสูง จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานผักและผลไม้สดชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาล หรือ Glycaemic index (GI) ต่ำ ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดได้ช้าและคงที่กว่าชนิดที่มีดัชนีน้ำตาลสูงหรือผักและผลไม้กระป๋อง

ตัวอย่างอาหารประเภทผักและผลไม้ชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

  • ผักมีแป้งต่ำ (Non-starchy vegetables) เช่น กะหล่ำปลี บรอกโคลี พริกไทย มะเขือเทศ ผักโขม ปวยเล้ง
  • ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น เกรปฟรุต กล้วยดิบ มะม่วงดิบ ส้ม แอปเปิล
  • ผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลปานกลาง เช่น กล้วย สับปะรด

อาหารประเภทโปรตีน

ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้หลากหลายในปริมาณที่ไม่ต่างจากคนทั่วไป แต่คุณหมออาจแนะนำผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไตเรื้อรัง หลังจากเป็นโรคเบาหวานมาเป็นเวลาหลายปี จำกัดอาหารประเภทนี้ เนื่องจากการบริโภคโปรตีนมากเกินไปอาจทำให้ความดันภายในไตเพิ่มขึ้นและอาจทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อกรองของเสีย อาจทำให้เนื้อไตเสียหายจนทำให้อาการแย่ลงได้

ตัวอย่างอาหารประเภทโปรตีนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน

  • เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้ออกไก่ เนื้อหมูไม่ติดหนัง
  • ปลา เช่น ปลาทู ปลาช่อน ปลานิล ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
  • ไข่
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น น้ำนมวัว โยเกิร์ตไขมันต่ำ
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วแดง ถั่วเหลือง

อาหารประเภทไขมัน

ผู้ป่วยเบาหวานควรเน้นไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันดีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่าง ช่วยลดไขมันเลวหรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low density lipoprotein หรือ LDL) ในกระแสเลือด ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง

ตัวอย่างอาหารประเภทไขมันชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat)

  • อะโวคาโด
  • พืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พีแคน ถั่วลิสง
  • น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอกแบบโซเดียมต่ำ น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโนล่า

ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fats) ที่ประกอบด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด และช่วยในกระบวนการทำงานของระบบประสาทและสมอง เป็นไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ต้องได้รับจากแหล่งภายนอกเท่านั้น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้

  • แหล่งกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาที่มีไขมันอย่างปลาสวาย ปลาช่อน ปลาจะละเม็ดขาว ปลากะพงแดง ปลาแซลมอน รวมถึงน้ำมันคาโนล่า เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย วอลนัต
  • แหล่งกรดไขมันโอเมก้า 6 เช่น น้ำมันคาโนล่า ไข่ เมล็ดทานตะวัน เต้าหู้ เมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์

อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน

อาหาร คนเป็น เบาหวาน ไม่ควรกิน หรือกินแต่น้อย เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพ อาจมีดังนี้

  • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นอาหารที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น
    • เนื้อสัตว์ไขมันสูงอย่างเนื้อบด อาหารทอด
    • เนื้อสัตว์แปรรูปอย่างโบโลน่า ฮอทดอก ไส้กรอก เบคอน ซี่โครงหมู
    • อาหารแปรรูปอย่างมัฟฟิน คุกกี้ เค้ก แครกเกอร์
    • เนย มาการีน ครีมซอส น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู
  • อาหารโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แฮมกระป๋อง ไส้กรอกอีสาน แหนม กุนเชียง น้ำปลา ผงชูรส ผลไม้เชื่อม เพราะทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเยอะมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากไตทำงานหนักมากเกินไปในการจำกัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยปริมาณโซเดียมที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม/วัน
  • อาหารน้ำตาลสูง ที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็วและทำให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามเกณฑ์เป้าหมายได้ยาก เช่น
    • ผลไม้น้ำตาลสูงอย่างทุเรียนหมอนทอง มะปรางหวาน ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม
    • น้ำหวานอย่างโกโก้ ชาเขียว น้ำผลไม้เติมน้ำตาล น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง
    • คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวอย่างขนมปังขาว ข้าวขาว น้ำตาลทรายขาว

วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจมีดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสมและพออิ่ม ลดการรับประทานมื้อจุกจิก ขนมหวาน เครื่องดื่มระหว่างวัน และมื้อดึก
  • ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและระดับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเอง
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ด้วยการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉง (Active living) ไม่นั่งอยู่กับที่นานหลายชั่วโมง เดินขึ้นบันไดไม่กี่ชั้นแทนการใช้ลิฟต์ เป็นต้น
  • เลิกสูบบุหรี่ เพื่อช่วยให้อินซูลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น และควรหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสองที่ส่งผลเสียต่อร่างกายในลักษณะเดียวกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Best and Worst Foods for Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/diabetic-food-list-best-worst-foods. Accessed January 31, 2023

what is a healthy, balanced diet for diabetes?. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/enjoy-food/eating-with-diabetes/what-is-a-healthy-balanced-diet. Accessed January 31, 2023

Diabetes diet: Create your healthy-eating plan. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/diabetes-diet/art-20044295. Accessed January 31, 2023

Diabetes and Nutrition. https://familydoctor.org/diabetes-and-nutrition/. Accessed January 31, 2023

i have type 2 diabetes – what can i eat?. https://www.diabetes.org.uk/guide-to-diabetes/enjoy-food/eating-with-diabetes/i-have-type-2-diabetes. Accessed January 31, 2023

Fats. https://diabetes.org/healthy-living/recipes-nutrition/eating-well/fats. Accessed January 31, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลในเลือดสูง ควรกินอะไร และควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไร

อาหารคุมเบาหวาน มีเมนูอาหารอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา