เริมที่ปาก เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบบริเวณริมฝีปาก มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) มักพบในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำ หากถามว่า เป็นเริมที่ปากห้ามกินอะไร คำตอบคืออาหารที่เป็นกรดสูง เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ ไวน์ และอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น ขนมหวาน ซีเรียล อาหารกระป๋อง เพราะอาจทำให้อาการของเริมกำเริบหรือหายช้าลงได้
[embed-health-tool-bmi]
เริมที่ปาก เกิดจากอะไร
เริมที่ปาก เป็นโรคติดเชื้อบริเวณริมฝีปากชนิดหนึ่ง มักเกิดจากเชื้อไวรัสเอชเอสวี-1 (HSV-1) หรือในบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชเอสวี-2 (HSV-2) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริมที่อวัยวะเพศและทวารหนักด้วย
เมื่อเป็นเริมที่ริมฝีปาก จะรู้สึกแสบร้อนหรือคันบริเวณริมฝีปาก ตามด้วยมีตุ่มบวมหรือแผลพุพองเกิดขึ้นรอบ ๆ ปาก หรือภายในปาก นอกจากนี้ บางรายอาจมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หรือต่อมน้ำเหลืองบวมร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการของเริมที่ปากอาจกำเริบได้เมื่อกินอาหารบางอย่าง หรือเมื่อเผชิญกับปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- แสงแดดหรือลมหนาว
- ผิวหนังบริเวณริมฝีปากแตกหรือแห้ง
- โรคหวัดและโรคอื่น ๆ
- ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ
- ความเครียด ภาวะวิตกกังวลต่าง ๆ
- ระดับฮอร์โมนภายในร่างกายแปรปรวนไม่สมดุล
อย่างไรก็ตาม เริมที่ปากมักหายไปเองภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจกลับมาสามารถเป็นซ้ำได้เพราะเชื้อเอชเอสวียังคงอยู่ในร่างกาย
เป็นเริมที่ปากห้ามกินอะไร
เมื่อเป็นเริมที่ปาก ไม่ควรรับประทานอาหารดังต่อไปนี้
- อาหารที่เป็นกรด เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ ไวน์ โซดา ของหมักดอง น้ำสลัดที่มีน้ำส้มสายชูเป็นส่วนผสม รวมถึงอาหารที่ให้รสเผ็ดร้อนต่าง ๆ เพราะกรดออกฤทธิ์ทำให้แผลเริมเปิดหรือระคายเคือง ซึ่งทำให้อาการกำเริบหรือหายช้าลงได้
- อาหารแปรรูป การบริโภคอาหารแปรรูปอย่างซีเรียล อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารเส้นต่าง ๆ มักส่งผลให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีสารอนุมูลอิสระมากเกินไปจนเกิดการอักเสบ และทำให้ภูมิกันอ่อนแอลงจนกระทั่งเริมที่ปากกำเริบได้
เป็นเริมที่ปาก ควรกินอาหารอะไร
เริมที่ปากอาจป้องกันได้ ด้วยการบริโภคสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังต่อไปนี้
- วิตามินซี พบได้ในผักและผลไม้หลาย ๆ ชนิด เช่น ส้ม มะนาว กีวี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก หรือบร็อคโคลี่ ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารลิกนิน (Lignin) และวิตามินซีต่อเชื้อเอชเอสวี-1 เผยแพร่ในวารสาร In Vivo ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยให้ผู้ติดเชื้อเอชเอสวี-1 จำนวน 48 ราย บริโภคลิกนินและวิตามินซีในรูปแบบสารละลาย วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน ผลปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อซึ่งบริโภคสารละลายภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากติดเชื้อ ไม่พบตุ่มบวมซึ่งเป็นอาการของเริมที่ปาก ขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อซึ่งบริโภคสารละลายหลังจากติดเชื้อไปแล้ว 48 ชั่วโมง มีอาการในระยะที่สั้นลง และมีโอกาสต่ำที่จะกลับมาเป็นเริมซ้ำ นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคลิกนินและวิตามินซี อาจช่วยบรรเทาและป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อเอชเอสวี-1 ได้
- สังกะสี พบได้ในจมูกข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์จากนม เมล็ดพืช ถั่วลูกไก่ หอย เนื้อแกะ และเนื้อหมู
- วิตามินบี พบได้ในถั่วต่าง ๆ กล้วย ส้ม ตับสัตว์ ขนมปังที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด และผักใบเขียว
- โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ พบได้ในโยเกิร์ต กิมจิ ชาหมัก และนัตโตะหรือถั่วเน่าญี่ปุ่น
- สารอาร์จินีน (Arginine) พบในเนื้อสัตว์ ถั่ว หรือธัญพืชเต็มเมล็ด งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติต้านไวรัสของอาร์จินีนต่อเชื้อเอชเอสวี 1 เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Medicine ปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของสารอาร์จินีนต่อเชื้อเอชเอสวี 1 ในห้องปฏิบัติการ และพบว่าสารอาร์จินีนมีประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเอชเอสวี 1 โดยเฉพาะในช่วง 6 ชั่วโมงแรกหลังจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารอาร์จินีนต่อไป