backup og meta

กินเบียร์อ้วนไหม เบียร์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    กินเบียร์อ้วนไหม เบียร์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดบ้าง

    กินเบียร์อ้วนไหม เป็นคำถามที่นักดื่มหลายคนอาจสงสัย เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จากกระบวนการหมักจากธัญพืช ที่คนนิยมดื่มเมื่อพบปะสังสรรค์หรือเพื่อผ่อนคลายความเครียด แต่การดื่มเบียร์มากเกินปริมาณที่เหมาะสมและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับอักเสบ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจเสียหายที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และนำไปสู่โรคอ้วนได้

    คุณค่าทางโภชนาการของเบียร์

    เบียร์ 1 กระป๋อง ให้พลังงานประมาณ 153 กิโลแคลอรี (ขึ้นอยู่กับดีกรีของเบียร์) แอลกอฮอล์ 14 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13 กรัม และโปรตีน 2 กรัม

    แม้ว่าหลายคนอาจมีความกังวลว่า กินเบียร์อ้วนไหม แต่ถ้าดื่มในปริมาณที่เหมาะสมก็อาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มมวลกระดูกที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ผ่อนคลายความเครียด และลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

    จากการศึกษาในวารสาร PLoS One ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการดื่มเบียร์ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 69 บทความ พบว่า การดื่มเบียร์ในระยะสั้นในปริมาณไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวันสำหรับผู้ชายอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด โดยช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด และเพิ่มระดับไขมันดี ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษในระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อศึกษาประโยชน์ของเบียร์ต่อสุขภาพ

    กินเบียร์อ้วนไหม ?

    เบียร์ 1 กระป๋อง มีพลังงาน 153 กิโลแคลอรี ซึ่งมีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำอัดลม โดยปกติแล้วร่างกายควรได้รับแคลอรี่ 1500-2000 แคลอรี่/วัน ซึ่งการดื่มเบียร์ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่เกินกว่าความต้องการในแต่ละวัน จนทำให้ร่างกายกักเก็บแคลอรี่ส่วนเกินไว้ในรูปแบบไขมันตามส่วนต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความอ้วนได้

    อีกทั้งเบียร์ยังอาจส่งผลให้เพิ่มความอยากอาหารในระยะสั้น จึงทำให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารมากกว่าปกติ ทำให้ได้รับแคลอรี่ในร่างกายเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดไขมันรอบเอวและน้ำหนักตัวเพิ่ม ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

    จากการศึกษาในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition เมื่อ ปี พ.ศ. 2555 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโรคอ้วน โดยทำการทดลองแบบสุ่มในชาวโปรตุเกส โดยประเมินการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันและโรคอ้วนในผู้เข้าร่วมการทดลอง 2,366 คน และประเมินเกี่ยวกับภาวะอ้วนลงพุงในคน 2,377 คน โดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับความถี่ของการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงวัดดัชนีมวลกายและรอบเอว พบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 60 กรัม/วัน ขึ้นไป เป็นประจำทุกวันหรือบ่อยครั้ง อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนและภาวะอ้วนลงพุงทั้งผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น สำหรับคำถามที่ว่า กินเบียร์อ้วนไหม จึงอาจตอบได้ว่ามีโอกาสอยู่พอสมควร

    เบียร์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านใดบ้าง

    การดื่มเบียร์ปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

    • น้ำหนักเกินเกณฑ์และอ้วนลงพุง
    • ริ้วรอยก่อนวัย หน้าดูแก่ก่อนวัย
    • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ตับอักเสบ ไขมันพอกตับ และตับแข็ง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
    • ภาวะหัวใจวาย
    • โรคมะเร็ง
    • สมองและระบบประสาทเสียหาย เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์
    • สับสน มึนงง ขาดสติ และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น รถชน หกล้ม
    • อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ไวขึ้น

    ข้อควรระวังในการดื่มเบียร์

    ข้อควรระวังในการดื่มเบียร์ มีดังนี้

    • หากไม่เคยดื่มมาก่อนไม่แนะนำให้เริ่มดื่ม แต่หากดื่มเป็นประจำ ควรดื่มเบียร์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกิน 1-2 แก้ว/วัน เพราะการดื่มที่มากกว่านั้นเพิ่มความเสี่ยงทำให้น้ำหนักเพิ่ม โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรังอื่น ๆ
    • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและภาวะหัวใจล้มเหลว ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
    • สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการดื่มเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น ไวน์ เหล้า เบียร์ เพราะอาจกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา