ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เป็นเครื่องมือที่ใช้คำนวณเปรียบเทียบค่าน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อประเมินความสมดุลของสภาวะร่างกายในปัจจุบัน สามารถเป็นตัวช่วยในการจัดการน้ำหนักไม่ให้ต่ำหรือสูงจนเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคขาดสารอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีมวลกายอาจมีข้อจำกัดในผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อมาก บวมน้ำหรือมีสัดส่วนตัวเล็กกว่าปกติ อาจทำให้ค่าสูงหรือต่ำแม้ว่าจะไม่ได้มีภาวะน้ำหนักน้อยหรือสูงกว่าปกติ
[embed-health-tool-bmi]
ดัชนีมวลกาย คืออะไร
ดัชนีมวลกาย คือ ค่าน้ำหนักตัวที่มีหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงที่มีหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง เป็นการประเมินมวลกายโดยรวมที่อาจแสดงถึงการเผาผลาญอาหารในร่างกาย หรือแนวโน้มในการเกิดโรค ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นตัวบอกว่าน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือมีแนวโน้มน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจช่วยในการควบคุมน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของร่างกายได้อย่างเหมาะสม โดยค่าดัชนีมวลกายอาจแบ่งได้ ดังนี้
- ค่าดัชนีมวลกาย น้อยกว่า 18.5 หมายถึง น้ำหนักน้อยมากหรือผอมเกินไป
- ค่าดัชนีมวลกาย 18.5-22.90 หมายถึง น้ำหนักและความสมดุลของร่างกายอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
- ค่าดัชนีมวลกาย 23-24.90 หมายถึง น้ำหนักเกิน ควรควบคุมน้ำหนัก
- ค่าดัชนีมวลกาย 25-29.90 หมายถึง โรคอ้วนระดับที่ 1 ควรควบคุมน้ำหนัก และอาจเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ค่าดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไป หมายถึง โรคอ้วนระดับที่ 2 เป็นปัญหาของโรคอ้วน ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง ดังนั้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาแนวทางควบคุมน้ำหนัก
วิธีคำนวณดัชนีมวลกาย
วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกายเพื่อประเมินสุขภาพ อาจทำได้ดังนี้
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หน่วย กิโลกรัม/เมตร2 = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักวัดส่วนสูงเป็นเซนติเมตร จึงอาจคำนวณส่วนสูงด้วยการนำ ส่วนสูง (เซนติเมตร) ÷ 100 จะได้ความสูงที่มีหน่วยเป็นเมตร
ตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 56 กิโลกรัม ส่วนสูง 170 เซนติเมตร (1.70 เมตร)
56 ÷ (1.70)2 = 19.37 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ความสำคัญของการคำนวณดัชนีมวลกาย
ค่าดัชนีมวลกายเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสอบสภาวะสมดุลของร่างกายและประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 คอเลสเตอรอลในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง มะเร็ง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคข้อเข่าเสื่อม ขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถใช้เพื่อวินิจฉัยโรคหรือบอกข้อมูลที่แท้จริงของร่างกาย เช่น ปริมาณของกล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน เนื้อเยื่อ
ความแม่นยำของค่าดัชนีมวลกาย
การคำนวณค่าดัชนีมวลกายสามารถใช้ได้กับทุกคนแต่อาจมีข้อจำกัดบางประการ เช่น
- ผู้ที่มีมวลกล้ามเนื้อมากเนื่องจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา
- ผู้ที่มีสัดส่วนร่างกายเล็ก
- ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำ
เมื่อคำนวณค่าดัชนีมวลกายออกมาอาจทำให้ค่าสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ ในบางคนที่มีขนาดตัวเล็กแต่ค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติอาจเสี่ยงที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินและเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังได้เช่นกัน เนื่องจาก การคำนวณค่าดัชนีมวลกายจะแปรผันตามรูปร่างและน้ำหนักในขณะนั้น ซึ่งอาจเป็นเพียงการประเมินจากสภาวะร่างกายโดยรวมเท่านั้น ดังนั้น จึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อตรวจสอบระดับไขมันในร่างกาย และเพื่อตรวจสอบปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น