backup og meta

โรคแมวข่วน อันตรายจากน้องเหมียวที่ควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    โรคแมวข่วน อันตรายจากน้องเหมียวที่ควรระวัง

    แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ทำให้มนุษย์ทั้งหลายยินยอมพร้อมใจที่จะเป็นทาสแบบสมัครใจและไร้เหตุผล แต่ทว่าเจ้าแมวเหมียวของพวกเราชาวทาสอาจจะไม่ได้แค่น่ารักน่าถนุถนอมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในบางครั้งเจ้าเหมียวก็อาจจะนำเอา โรคแมวข่วน มาติดทาสแมวที่คอยเลี้ยงดูได้เช่นกัน Hello คุณหมอ ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคแมวข่วนเพื่อที่จะได้รับมือและดูแลกับน้องแมวได้อย่างถูกต้อง

    โรคแมวข่วนเกิดจากอะไร

    โรคแมวข่วน (Cat-scratch disease) หรือ (CSD) เป็นโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียจากแมวที่ติดเชื้อ ซึ่งเราในฐานะเจ้าของแมวก็อาจจะไม่ได้สังเกตหรือสังเกตรู้ได้ว่าแมวกำลังติดเชื้อหรือเปล่า เมื่อแมวที่ติดเชื้อมาเลียเข้าที่แผลหรือผิวหนัง หรือมีการสัมผัสกับน้ำลายของแมวแล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาด ถูกแมวกัด หรือข่วนเข้าที่ผิวหนังจนเป็นแผล

    สาเหตุเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้ติดเชื้อจากแมวได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้ก็คือเชื้อ Bartonella henselae โดยกว่า 40% ของเจ้าแมวเหมียวนั้นจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ว่านี้อยู่ภายในปาก และกรงเล็บ ซึ่งเจ้าแมวเหมียวเหล่านี้ก็ได้รับเชื้อมาจากการเกาเห็บหรือมัดที่ติดเชื้อ หรือกัดเห็บหมัดเหล่านั้น หรือมาจากการต่อสู้กับแมวตัวอื่นที่มีเชื้อนี้ก็ได้เช่นกัน

    อาการของโรคแมวข่วนเป็นอย่างไร

    อาการของโรคจะไม่ปรากฏทันทีที่ถูกแมวข่วนหรือกัด แต่หลังจากนั้นเพียงวันหรือสองวันก็จะปรากฎอาการต่างๆ โดยในช่วงแรกหลังจากถูกกัดหรือข่วน จะมีผื่นสีแดง หรือผื่นพุพอง ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แต่อาจทำให้เกิดหนองได้ หลังจากนั้นภายในระยะเวลาสองสัปดาห์ หรือหลังจากที่แผลหาย คุณอาจมีอาการ ดังนี้

    • มีไข้ (แต่ไม่สูงมาก อาจต่ำกว่า102 องศาฟาเรนไฮต์)
    • ปวดศีรษะ
    • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    • มีอาการเบื่ออาหาร
    • ต่อมน้ำเหลืองบวม

    ในบางกรณีอาจมีอาการที่ร้ายแรงกว่าที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะหากโรคนี้เกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคแมวข่วนอาจส่งผลที่ร้ายแรงต่อกระดูก ข้อต่อ ดวงตา สมอง หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ

    จะป้องกันโรคแมวข่วนและดูแลตนเองอย่างไรได้บ้าง

    คุณสามารถที่จะดูแลและป้องกันทั้งตนเองและน้องแมวของคุณได้ ดังนี้

    1.ระมัดระวังการสัมผัสกับแมวในบ้านหรือแมวจรจัด

    โดยเฉพาะในช่วงที่แมวออกไปเล่นข้างนอกมา เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าแมวไปรับเชื้อมาหรือไม่ รวมถึงสัตว์แปลกหน้าที่พบก็ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น ควรระมัดระวังการสัมผัสกับสัตว์ให้มาก โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงจรจัด

    2.ระมัดระวังการเล่นรุนแรงกับแมว

    เหล่าคนรักแมวชอบที่จะให้แมวเล่นได้เล่นอย่างสนุกสนาน แต่การเล่นหรือหยอกกับแมวที่รุนแรงเกินไปนั้นเป็นการสร้างความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ หากการเล่นในครั้งนั้นไปกระตุ้นให้แมวข่วนหรือกัดจนเกิดแผล

    3.ดูแลรักษาความสะอาดแมว

    จัดการรักษาเห็บ หมัด หากน้องแมวที่บ้านมีความเสี่ยงในเรื่องนี้ และหมั่นตัดเล็บของเจ้าเหมียวให้สั้นอยู่เสมอ และพาไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอเป็นประจำ เพื่อที่ถ้าหากเกิดการติดเชื้อหรือมีอาการรุนแรงอื่นๆ จะได้รับการรักษาทันท่วงที

    4.ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

    ไม่เฉพาะการสัมผัสกับแมวเท่านั้น แต่หลังจากการสัมผัสกับสัตว์ทุกชนิดและสิ่งสกปรกอื่นๆ ควรที่จะล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และโดยเฉพาะหากโดนแมวข่วนหรือกัด ควรที่จะต้องล้างและทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นให้สะอาดทันที

    5.เลี้ยงแมวที่โตแล้ว

    สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่อยากที่จะเลี้ยงแมว ควรเลือกแมวที่มีอายุ1ปีขึ้นไป เพราะเหล่าแมวเหมียวที่อายุยังน้อยกว่า1ปีนั้นมีความเสี่ยงของโรคแมวข่วนสูง

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    สำหรับผู้ที่มีร่างกายที่แข็งแรง อาการของโรคนี้สามารถที่จะหายได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษากับคุณหมอ และอาจรับประทานยาที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ ยานาพรอกเซน(Naproxen) การใช้ลูกประคบก็มีส่วนช่วยบรรเทาอาการได้

    แต่สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือผู้ที่ป่วยด้วยอาการข้างต้นแต่ไม่หายสักที หรือมีอาการที่รุนแรงกว่าอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้น ควรที่จะต้องรีบไปพบกับคุณหมอโดยทันที

    Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา