แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรค เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 22 มกราคม 2566 พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสะสม 2,593 คน เฉลี่ยวันละ 90 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจจำนวน 178 คน จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่ายังคงมีประชากรที่จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (ในกลุ่มที่ร่างกายสามารถรับวัคซีนได้) และภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป หรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
โดยที่ผ่านมายังมีประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติหรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีน อีกทั้งยังมีกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอต่อการป้องกันโรค อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางกรมการแพทย์[2] ได้รณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (กลุ่ม 607) ให้เข้ารับบริการการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป LAAB ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 35 แห่งทั่วประเทศ
LAAB ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ลดอาการป่วยรุนแรง
Long-acting Antibody หรือ LAAB คือ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปที่ประกอบด้วยแอนติบอดี 2 ชนิด ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อการฉีดป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อก่อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และฉีดเพื่อการรักษาโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม
ทั้งนี้ LAAB นั้นต่างกับวัคซีนปกติตรงที่เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ร่างกายสามารถรับแล้วนำไปใช้ได้เลยภายใน 6 ชั่วโมง จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป หรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีน
โดยมีการศึกษายืนยันว่าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทั้งต่อสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์กลายพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งจากข้อมูลการศึกษาระยะที่สามในต่างประเทศพบว่า LAAB มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบมีอาการได้ร้อยละ 77 หลังจากได้ยาหนึ่งโดสไปแล้ว 3 เดือน และร้อยละ 83[1] หลังจากได้ยาแล้ว 6 เดือนโดยพบรายงานอาการไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือการมีปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด แต่ส่วนใหญ่เป็นระดับน้อยถึงปานกลาง
ปัจจุบันในประเทศไทย มีการใช้ LAAB ในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งที่เกิดจากตัวโรค และที่เกิดจากการใช้ยากดภูมิ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 3 เดือน
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มสุดท้ายเกิน 3 เดือน
- ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
- ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรได้รับยา
สำหรับผู้ที่มั่นใจว่าตนเองเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ระบุไว้ข้างต้น สามารถเข้าไปกรอกรายละเอียดที่ poomkumjai.com เพื่อค้นหาโรงพยาบาลใกล้บ้านและเข้ารับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ท่านที่สนใจประเมินความพร้อมด้านภูมิคุ้มกันและค้นหาข้อมูลเบื้องต้น สามารถทำแบบประเมินได้ที่ poomkumjai.com/quiz ทั้งนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวร่วมด้วย
[1] LAAB มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 แบบมีอาการได้ร้อยละ 82.8 เมื่อติดตามไป 6 เดือน (New England Journal of Medicine)
[2] New England Journal of Medicine