backup og meta

ผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

ผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย และการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ลดน้อยลง ทำให้เสี่ยงประสบปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจได้บ่อยกว่าคนในวัยอื่น ๆ และที่มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาสุขภาพหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่พบในผู้สูงอายุ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ โรคอัลไซเมอร์ การปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพอาจช่วยให้ผู้สูงอายุป้องกันการเกิดโรคใหม่และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่เดิมได้

[embed-health-tool-bmi]

อายุเท่าไหร่ถึงเรียกว่า ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ (Olderly) หมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นวัยที่ควรเอาใจใส่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น โดยปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยมักมาจากกลุ่มโรคที่เกิดจากความชราภาพ ทำให้ร่างกายถดถอยและอวัยวะต่าง ๆ เสื่อมลง เช่น สายตาแย่ลง หูตึง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ และกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สะสมมาเป็นเวลานานหลายปี โดยอาจเกิดร่วมกับปัจจัยทางพันธุกรรม นำไปสู่โรคเรื้อรังต่าง ๆ ในวัยสูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งการใส่ใจดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกลุ่มหลังหรือลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังอาจมีกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสื่อมถอยของสุขภาพในวัยชรา เช่น การหกล้ม อาการหลงลืม นอนไม่ค่อยหลับ เคลื่อนไหวได้ช้าลง ภาวะซึมเศร้า อารมณ์ไม่คงที่

ปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ที่พบได้บ่อย

ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้

  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และมักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นเวลานานหลายปี เช่น ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารรสจัดและมีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ ดื่มแอลกอฮอล์ และอาจเกิดในผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน โดยทั่วไปโรคความดันโลหิตสูงจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดจนกระทั่งอยู่ในระยะรุนแรง และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้สูงอายุจะต้องไปคัดกรองโรคเบื้องต้นและเข้าตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ อาจเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ยิ่งตรวจพบโรคได้เร็ว ก็จะยิ่งช่วยให้สามารถควบคุมโรคและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังจากภาวะความดันโลหิตสูง เช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โรคหัวใจ ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายคนมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย กินอาหารมันจัดเค็มจัดเป็นประจำ เครียดมากขึ้น จนอาจทำให้เป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน

ผู้สูงอายุหลายคนมีภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากไขมันชนิดไม่ดี เช่น คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สะสมและเกาะตัวอยู่ภายในเส้นเลือดและขัดขวางการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ยากขึ้น การมีไขมันในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี อาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตัน เสี่ยงเกิดอาการเจ็บหน้าอก (Angina pectoris) เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลงและเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ ทั้งยังเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ จนไปถึงภาวะหัวใจวายด้วย

ภาวะไขมันในเลือดสูงอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากการพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งสามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่อายุยังน้อย และภาวะนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และมักไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด ผู้สูงอายุจึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อวัดระดับไขมันในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease หรือ Coronary Heart Disease, CAD)

เป็นชื่อเรียกกลุ่มอาการของโรคหัวใจ 3 โรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย เกิดจากคราบจุลินทรีย์หรือไขมันสะสมเป็นเวลานาน จนหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจหนาตัวขึ้นและตีบตัน หัวใจจึงต้องทำงานมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือด ทั้งยังทำให้เลือดเดินทางไปยังหัวใจได้น้อยลง และส่งผลให้หัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อาการแน่นหน้าอก ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจล้มเหลวได้

โรคเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลิน หรือตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอจนกระทบต่อการลำเลียงน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย ส่งผลให้น้ำตาลสะสมอยู่ในเลือดและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานหลายปีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคหัวใจ เบาหวานขึ้นตา ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท

โดยทั่วไปความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นหลังจากอายุ 45 ปี โดยเฉพาะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย หิวหรือกระหายน้ำมากขึ้น น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ่ายปัสสาวะบ่อย การมองเห็นแย่ลง ผู้สูงอายุบางคนคิดว่าอาการเหล่านี้เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้นและปล่อยผ่านไป ทางที่ดี ทางมีอาการดังกล่าว ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis)

เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อข้อต่อ เนื้อเยื่อรอบข้อต่อ และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่น ๆ ทำให้มีอาการปวดเมื่อย ตึงข้อ ข้อบวมแดง สูญเสียความยืดหยุ่นและขยับได้ยาก โดยทั่วไปแล้วความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบมักเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น การใช้งานร่างกายที่หักโหมเกินไป โรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะหลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากสูญเสียมวลกระดูกได้มากกว่าผู้ชาย โรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุดในหมู่ผู้สูงอายุ คือ โรคข้อเสื่อมหรือโรคข้อกระดูกอ่อนเสื่อม (Osteoarthritis) เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนที่หุ้มปลายกระดูกค่อย ๆ เสื่อมลง และมักทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณข้อต่อในมือ เข่า สะโพก กระดูกสันหลัง

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำและส่งผลต่อกระบวนการคิดและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เป็นภาวะเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เกิดจากสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ทำให้เซลล์สมองเสียหายและทำให้ประสิทธิภาพของสมองเสื่อมถอยลง ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ของภาวะนี้คือ อายุ ประวัติครอบครัว และพันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมหรือป้องกันได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

การดูแลสุขภาพของ ผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสม

วิธีดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการที่เกิดจากปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมตามค่าดัชนีมวลกาย เพราะน้ำหนักที่ลดลงเพียงไม่กี่กิโลกรัมก็ช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง และลดระดับความดันโลหิตได้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไม่ควรมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ภาวะขาดสารอาหาร
  • จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูปอย่างไส้กรอก ไส้อั่ว แหนม อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง
  • พยายามไม่เครียดมากเกินไป อาจหาเวลาทำงานอดิเรกที่สนใจ เช่น การอ่านหนังสือ การวาดรูป หรือใช้เวลาร่วมกับเพื่อน ปรึกษาปัญหาหรือระบายกับคนที่ไว้ใจได้ หรือพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ
  • ใช้ชีวิตแบบกระฉับกระเฉง ขยับร่างกายบ่อย ๆ ไม่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลาหลายชั่วโมง และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินในสวนสาธารณะ การเต้นแอโรบิก การรำมวยจีน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เป็นเวลา 30 นาที
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีตามนัดหมายเป็นประจำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และกินยาให้ครบถ้วนเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่
  • ลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น เบเกอรี่ที่มีเนยขาวและมาการีนอย่างขนมขบเคี้ยว คุกกี้ แครกเกอร์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และย่อยได้ง่าย เช่น เนื้อปลานึ่งซีอิ๊ว โจ๊กกุ้ง ฟักทองผัดไข่ ผลไม้เนื้อนุ่มและเคี้ยวง่ายอย่างกล้วยสุก มะละกอ แก้วมังกร อาหารที่มีแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงกระดูกอย่างนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีไขมันต่ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ageing and health. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/ageing-and-health#:~:text=Common%20conditions%20in%20older%20age,conditions%20at%20the%20same%20time. Accessed December 21, 2022

Health Issues in Older Adults. https://www.webmd.com/healthy-aging/health-issues-in-older-adults. Accessed December 21, 2022

The Top 10 Most Common Chronic Conditions in Older Adults. https://www.ncoa.org/article/the-top-10-most-common-chronic-conditions-in-older-adults. Accessed December 21, 2022

Osteoarthritis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/syc-20351925. Accessed December 21, 2022

Diabetes in Older People. https://www.nia.nih.gov/health/diabetes-older-people. Accessed December 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/12/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะของโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และวิธีรับมือ

การดูแลสุขภาพหัวใจและ หลอดเลือด สำหรับผู้สูงอายุ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา