backup og meta

การติดเชื้ออีโคไล (E.coli Infection)

การติดเชื้ออีโคไล (E.coli Infection)
การติดเชื้ออีโคไล (E.coli Infection)

การติดเชื้ออีโคไล (E. coli) สามารถเกิดจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการท้องเสียเล็กน้อยถึงรุนแรง

คำจำกัดความ

การติดเชื้ออีโคไล คืออะไร

แบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรืออีโคไล (E. coli) พบได้ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ โดยปกติแล้ว แบคทีเรียอีโคไลส่วนใหญ่จะทำให้เกิดอาการท้องเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็มีเชื้อแบคทีเรียอีโคไลบางสายพันธุ์ เช่น อีโคไล ซีโรไทป์ O157:H7 ซึ่งพบว่าแพร่ระบาดบ่อย ก็สามารถทำให้เกิดอาการติดเชื้ออีโคไลในลำไส้รุนแรง ส่งผลให้ถ่ายเหลว ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ อาเจียนได้

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลสามารถเกิดจากการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักสด และเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี หากเป็นผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงดี ส่วนมากแล้วจะสามารถหายจากการติดเชื้ออีโคไล ซีโรไทป์ O157:H7 ได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หญิงมีครรภ์ จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะพัฒนาไปจนถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการไตวายที่เรียกว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมีย (Hemolytic-uremic syndrome หรือ HUS)

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้ออีโคไลส่วนใหญ่ สามารถรักษาได้เองที่บ้าน

การติดเชื้ออีโคไล พบได้บ่อยแค่ไหน

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลนั้นพบได้บ่อยมาก มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย อย่างไรก็ดี การติดเชื้ออีโคไลสามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ การติดเชื้ออีโคไล

อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ได้แก่

  • อาการท้องเสียเฉียบพลัน ถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง หรือถ่ายเป็นเลือด
  • อาการปวดท้องบิด หรือเจ็บเวลาจับท้อง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนแรง
  • มีไข้

อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลขั้นรุนแรง

  • ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ปัสสาวะลดลง
  • ตัวซีด
  • มีรอยช้ำ
  • มีภาวะขาดน้ำ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

คุณควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการเหล่านี้

  • อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 4 วัน หรือ 2 วันสำหรับทารก หรือเด็ก
  • ท้องเสียร่วมกับมีไข้
  • อาการปวดท้องไม่หายไปหลังจากมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน
  • มีหนองหรือเลือดปนมาในอุจจาระ
  • อาเจียนเกิน 12 ชั่วโมง
  • มีอาการของการติดเชื้อในลำไส้ และเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • กระหายน้ำอย่างรุนแรง
  • วิงเวียน

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของการติดเชื้ออีโคไล

การติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อย
  • ไม่ล้างมือ หรือล้างไม่สะอาดก่อนเตรียมอาหาร หรือก่อนกินอาหาร
  • ใช้เครื่องครัวที่ไม่สะอาด เช่น เขียง มีด ภาชนะใส่อาหาร
  • รับประทานอาหารที่ไม่สุก โดยเฉพาะอาหารทะเล
  • ดื่มนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
  • เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงอาหารผ่านกรรมวิธีที่ไม่สะอาด เช่น การฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน การเก็บรักษาไม่ดี
  • สัมผัสกับน้ำที่มีการปนเปื้อน เช่น การดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อน ว่ายน้ำในทะเลสาบ หรือสระที่มีการปนเปื้อน
  • จากคนสู่คน โดยแบคทีเรียอีโคไลสามารถแพร่ได้ง่ายเมื่อคนที่มีเชื้ออยู่นั้นไม่ล้างมือให้ดีและไปจับคนอื่น หรือสิ่งอื่น เช่นอาหาร
  • ได้รับเชื้อผ่านสัตว์ โดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ เช่น วัว แพะ แกะ

ปัจจัยเสี่ยง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับการติดเชื้ออีโคไล ได้แก่

  • อายุ เด็กเล็ก และผู้สูงอายุนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้มากกว่าวัยอื่น
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ
  • การกินอาหารบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ไม่สุก นมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ ชีสที่ทำมาจากนมสด
  • ช่วงเวลา เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ถือเป็นช่วงที่มีผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลมาก
  • การรับประทานยาลดกรด เช่น อีโซเมปราโซล แพนโทพราโซล แลนโซพราโซล โอเมพราโซล

การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไล ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น คุณควรปรึกษแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยการติดเชื้ออีโคไล

การติดเชื้อโรคอีโคไลนั้นสามารถวินิจฉัยได้จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

การรักษาการติดเชื้ออีโคไล

การรักษาสำหรับการติดเชื้ออีโคไลในกรณีส่วนใหญ่ จะมีขั้นตอนต่อไปนี้

  • ทำการทดสอบหลายๆ รอบ
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำ และความเมื่อยล้า หากจำเป็น แพทย์อาจให้คุณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ
  • ทานยาแก้ท้องเสีย แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับการติดเชื้ออีโคไล

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับการติดเชื้ออีโคไลได้

  • ล้างผักและผลไม้ และอาหารอื่นๆ ให้สะอาดที่สุด เท่าที่ทำได้ ยกเว้นเนื้อไก่สด
  • ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังสัมผัสกับสัตว์
  • ใช้เครื่องครัว และอุปกรณ์ทำครัว เช่น กระทะ ภาชนะใส่อาหาร ที่สะอาด
  • เก็บเนื้อสัตว์ไว้ให้ห่างจากผัก ผลไม้ หรือสิ่งอื่นๆ ในตู้เย็น โดยต้องใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันน้ำจากเนื้อสัตว์ไหลไปปนเปื้อนสิ่งอื่น
  • หากจะละลายเนื้อสัตว์แช่แข็ง ควรนำออกจากช่องแช่แข็งมาใส่ช่องปกติ หรือละลายน้ำแข็งในไมโครเวฟแทน อย่านำเนื้อสัตว์ออกมาวางให้ละลายบริเวณอ่างน้ำ หรือเคาน์เตอร์เตรียมอาหาร เพราะอาจทำให้อาหารอื่นหรือเครื่องครัวปนเปื้อนได้
  • หากรับประทานอาหารไม่หมด ควรใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วเก็บเข้าตู้เย็นทันที
  • ดื่มนมที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้วเท่านั้น
  • ดื่มน้ำที่บรรจุขวดอย่างสะอาดถูกสุขอนามัย หรือดื่มน้ำต้มสุกเท่านั้น
  • หากคุณท้องเสีย ไม่ควรทำอาหาร เพราะอาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

E.coli infection. http://www.healthline.com/health/e-coli-infection. Accessed July 9, 2016.

E.coli infection. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/e-coli-infection-topic-overview. Accessed July 9, 2016.

E.coli infection. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/e-coli/basics/definition/con-20032105. Accessed July 9, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย pimruethai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

แหล่งสะสม แบคทีเรีย ในบ้านที่เราอาจคาดไม่ถึง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา