backup og meta

5 โรคที่มากับหน้าฝน วิธีรักษาและการป้องกัน

5 โรคที่มากับหน้าฝน วิธีรักษาและการป้องกัน

โรคที่มากับหน้าฝน มักเป็นโรคในกลุ่มทางเดินหายใจ เนื่องจากความชื้นในหน้าฝนทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคต่อมทอนซิลอักเสบ และโรคติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงอย่างโรคตาแดง อย่างไรก็ตาม โรคเหล่านี้อาจป้องกันได้ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ อยู่ห่างจากผู้ป่วย ฉีดวัคซีนป้องกันโรค

[embed-health-tool-bmi]

โรคที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง

โรคที่มากับหน้าฝน ที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ ปอด โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มักระบาดเป็นช่วง ๆ โดยเฉพาะหน้าฝนและหน้าหนาว อาการเริ่มต้นคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาจรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย อ่อนใจถี่รัว อาเจียน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้มากกว่าไข้หวัดธรรมดา

วิธีรักษา โรคไข้หวัดใหญ่มักรักษาด้วยการใช้ยาต้านไวรัส เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) หากให้ยาภายใน 48 ชั่วโมงแรกก็จะช่วยให้หายได้เร็วมากขึ้นและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ควรฉีดอย่างน้อยปีละ 1 เข็ม เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามสายพันธุ์ที่ระบาดในปีนั้น ๆ

โรคไข้เลือดออกเกิดจากติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งเป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยช่วงหน้าฝน ซึ่งเป็นฤดูที่มีน้ำขังตามบริเวณต่าง ๆ มากกว่าช่วงเวลาอื่น ส่งผลให้เกิดการแพร่พันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค อาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ อาจมีผื่นแดงขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วร่างกาย ปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ในกรณีรุนแรง อาจทำให้ปวดท้อง อาเจียนอย่างหนัก อาเจียนหรืออุจจาระมีเลือดปน เลือดกำเดาไหล อ่อนเพลียรุนแรง ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน

วิธีรักษา โรคไข้เลือดออกเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง โดยทั่วไปคุณหมอจะติดตามอาการและให้ยาบรรเทาปวดอย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) ให้ผู้ป่วยเช็ดตัวบ่อย ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อบรรเทาอาการให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) ที่มาจากสัตว์นำโรคอย่างหนู หมู สุนัข โค กระบือ พบได้บ่อยในฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง อีกทั้งยังมีน้ำสกปรกจากแหล่งต่าง ๆ ไหลมารวมกัน รวมไปถึงน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์นำโรคด้วย ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูง ปวดศีรษะ เมื่อยกล้ามเนื้อ ตัวเหลือง อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นขึ้นตามตัว อาการโดยทั่วไปจะคล้ายคลึงกับไข้หวัดและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรไปพบคุณหมอและวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด

วิธีรักษา โรคฉี่หนูรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน (Penicillin) ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) และอาจต้องใช้ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ร่วมด้วยเพื่อลดไข้และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปอาการป่วยจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์

ต่อมทอนซิล คือ เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้โคนลิ้นอยู่ด้านซ้ายและขวา จำนวน 2 ต่อม เมื่อติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างแบคทีเรีย เสตร็ปโตคอสคัสชนิดเอ (Streptococcus group A) อาจทำให้อักเสบและส่งผลให้ต่อมบวม เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก สัมผัสหรือกดแล้วเจ็บ เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน รวมทั้งอาจทำให้มีกลิ่นปากได้ หากมีอาการผิดปกติอย่าง หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบากมาก น้ำลายไหลออกมามากกว่าปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด

วิธีรักษา การรักษาโรคทอนซิลอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ การติดเชื้อแบคทีเรียรักษาได้ด้วยการรับประทานเพนิซิลินเป็นเวลา 10 วัน ส่วนการติดเชื้อไวรัส อาจหายเองภายใน 2-3 วัน แต่ควรดื่มน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย สำหรับผู้ที่เป็นโรคทอนซิลอักเสบซ้ำบ่อยครั้งหรือผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอาจรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว มักพบในช่วงหน้าฝน โดยเกิดจากแบคทีเรียและไวรัสหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดและการติดเชื้ออื่น ๆ โดยเชื้อก่อโรคอาจแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ทันทีที่มีอาการ และยังคงแพร่เชื้อได้ไปจนถึงหลังใช้ยาปฏิชีวนะ 24 ชั่วโมง โรคเยื่อบุตาอักเสบทำให้ระคายเคืองตา เจ็บตา ตาแดง ขี้ตาเยอะ หรือรู้สึกเหมือนมีทรายอยู่ในตา

วิธีรักษา โดยทั่วไป หากติดเชื้อไวรัส อาจหายได้เองภายใน 7-14 วัน และหากติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ขี้ผึ้งหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเคืองตามาก คุณหมออาจให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองร่วมด้วย

วิธีป้องกัน โรคที่มากับฝน

วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคที่มากับฝน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการใช้ห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หรือคนในครอบครัวที่มีอาการไม่สบาย เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ซักทำความสะอาดและเปลี่ยนเครื่องนอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • ในช่วงหน้าฝนควรดูแลบริเวณบ้านไม่ให้มีจุดน้ำขังที่อาจทำให้ยุงมาวางไข่ได้
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้รับของเหลวอย่างเพียงพอ
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 เข็ม เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค
  • พกร่มติดตัวเสมอเมื่อออกจากบ้าน หากตัวเปียกหรือถูกฝน ควรอาบน้ำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน และหลีกเลี่ยงการเดินในน้ำขังที่อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน เพราะอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านแผลบริเวณผิวหนังและนำไปสู่โรคได้
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่พื้นที่ที่มีคนแออัดหรือพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สถานพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคที่มากับหน้าฝน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Influenza (flu). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/symptoms-causes/syc-20351719. Accessed May 18, 2023

Pinkeye (Conjunctivitis). https://kidshealth.org/en/parents/conjunctivitis.html. Accessed May 18, 2023

What Is Leptospirosis?. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-leptospirosis. Accessed May 18, 2023

Dengue Fever.https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17753-dengue-fever#management-and-treatment. Accessed May 18, 2023

Tonsillitis.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tonsillitis/symptoms-causes/syc-20378479#:~:text=Tonsillitis%20is%20inflammation%20of%20the,the%20sides%20of%20the%20neck. Accessed May 18, 2023

7 โรคที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/gallery/7-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A4%E0%B8%94%E0%B8%B9/. Accessed May 18, 2023

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดไหม เพราะอะไร

โรคไข้เลือดออก และเรื่องควรรู้เพื่อการรับมือที่เหมาะสม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา