อาการของ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease: COPD) มีความหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับความเสียหายที่พบในปอด อาการมักจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี คุณอาจไม่รู้ตัวว่าคุณเป็นโรคนี้ จนกว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและสังเกตตนเอง เพื่อการป้องกันตัวให้ห่างไกลจากปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างถูกต้อง วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาไปทำความรู้จักโณคปวดอุดกั้นเรื้อรังให้มากกว่าที่เคย
อาการของ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่พบได้ทั่วไป
ไอเรื้อรัง
การไอเป็นวิธีที่ร่างกายทำความสะอาดทางเดินหายใจ เมือกในปอด สิ่งระคายเคืองอื่นๆ และสารคัดหลั่งต่างๆ โดยปกติแล้วถ้าไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับปอด เมือกจะเป็นสีใส
อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมือกอาจเป็นสีเหลือง บ่อยครั้งที่อาการไออาจรุนแรงมากในตอนเช้า คุณอาจไอมากขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือสูบบุหรี่ อาจมีอาการไอได้ทุกวัน ถึงแม้ว่าไม่มีอาการของโรคอื่นๆ เช่น อาการหวัดหรือไข้
หายใจมีเสียง
เมื่อหายใจออก และลมหายใจออกมาผ่านทางทางเดินหายใจที่แคบหรือถูกปิดกั้น คุณมักจะได้ยินเสียงลมหายใจ สิ่งนี้เรียกว่าการหายใจมีเสียง
ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการไอมักมีสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด จากเมือกปริมาณมากที่ปิดกั้นทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม การหายใจมีเสียงไม่ได้หมายความว่า คุณเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเสมอไป การหายใจมีเสียงเป็นอาการของโรคหอบหืดและโรคปอดบวมได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรสังเกตตนเองและปรึกษาแพทย์ หากมีอาการเป็นเวลานาน ดูท่าทางไม่ทุเลาลง
หายใจลำบาก (Dyspnea)
เมื่อทางเดินหายใจที่ปอดของคุณมีอาการติดเชื้อ เสียหาย และเริ่มตีบตัน คุณอาจรู้สึกหายใจหรือสูดลมหายใจลำบาก อาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังดังกล่าวนี้สังเกตได้ในระหว่างการออกกำลังกายที่หนักขึ้น โรคนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน ทำงานบ้าน แต่งตัว หรืออาบน้ำ ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ สามารถเกิดขึ้นได้แม้ในระหว่างหยุดพัก คือคุณอาจมีอาการหายใจลำบากทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
อ่อนเพลีย
หากคุณหายใจลำบาก คุณจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สำหรับเลือดและกล้ามเนื้อของคุณ หากไม่ได้รับออกซิเจนที่จำเป็น ร่างกายของคุณจะทำงานช้าลงและมีอาการอ่อนเพลีย นอกจากนี้คุณอาจรู้สึกเหนื่อยเนื่องจากปอดทำงานหนักเกินไป เพื่อหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป และหายใจออกเพื่อปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จึงทำให้คุณสูญเสียพลังงานและอ่อนเพลีย
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย
เนื่องจากผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีความลำบากมากขึ้นในการกำจัดแบคทีเรีย ไวรัส สารมลภาวะ ฝุ่น และสารระคายเคืองอื่นๆ ออกจากปอด จึงมีความเสี่ยงมากขึ้นสำหรับภาวะติดเชื้อที่ปอด เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม แม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะติดเชื้อต่างๆการปฏิบัติตนให้มีสุขอนามัยที่ดีและการรับวัคซีน ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้
น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
หากคุณป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นเวลานาน คุณอาจสังเกตได้ว่าคุณมีน้ำหนักลดลง พลังงานจำนวนมากที่ร่างกายของคุณต้องการ ทำให้เกิดการเผาผลาญแคลอรี่มากกว่าที่คุณรับเข้าไป จึงเป็นสาเหตุให้น้ำหนักของคุณลดลง ภาวะน้ำหนักลดสามารถเกิดขึ้นได้จากอาการอ่อนเพลียและหายใจลำบากด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นภาวะที่ทำให้รับประทานอาหารได้ลำบาก
อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง
- อาการปวดศีรษะในตอนเช้าสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาการเท้าหรือข้อเท้าบวมสามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีแรงกดที่หัวใจ ซึ่งทำให้การสูบฉีดเลือดผ่านทางปอดที่เสียหายเป็นไปได้ยากขึ้น
ระยะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ระยะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมี 4 ระยะ นับต่อเนื่องตั้งแต่ระยะไม่รุนแรงจนถึงระยะรุนแรง ในแต่ละระยะมีอาการที่แตกต่างกัน และสมรรถภาพปอดจากการตรวจสมรรถภาพปอด (pulmonary function tests: PFT) มักจะลดน้อยลงเมื่อผ่านไปสู่ระยะที่สูงขึ้น
ระยะที่ 1
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะที่ 1 มีอาการที่ไม่รุนแรง อย่างเช่น อาการหายใจลำบาก ทางเดินหายใจตีบตันที่ไม่รุนแรง (ค่า FEV1/FVC น้อยกว่าร้อยละ 70 ค่า FEV1 มากกว่าร้อยละ 80) และในบางครั้ง แต่ไม่เสมอไป อาจมีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ ในระยะนี้ ผู้ป่วยอาจยังไม่ทราบว่าปอดมีภาวะการทำงานที่ผิดปกติ
ระยะที่ 2
ในระยะนี้ ผลการตรวจสอบการตีบตันของทางเดินหายใจแย่ลง (ค่า FEV1/FVC น้อยกว่าร้อยละ 70 ค่า FEV1 มากกว่าร้อยละ 50 แต่น้อยกว่าร้อยละ 80) โดยมีอาการหายใจลำบากที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการออกกำลังกาย เป็นระยะที่ผู้ป่วยมักไปพบหมอ เนื่องจากมีอาการในระบบทางเดินหายใจที่เรื้อรัง หรือมีการกำเริบของโรค
ระยะที่ 3
อาการการตีบตันของทางเดินหายใจรุนแรงขึ้น (ค่า FEV1/FVC น้อยกว่าร้อยละ 70 ค่า FEV1 มากกว่าร้อยละ 30 แต่น้อยกว่าร้อยละ 50) ก่อให้เกิดอาการที่รุนแรง หายใจลำบากมากขึ้น สมรรถภาพในการออกกำลังกายที่ลดลง และมีอาการกำเริบของโรคซ้ำ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ระยะที่ 4
ระยะนี้เป็นระยะที่รุนแรงที่สุดของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลงเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการไม่สามารถหายใจได้ ภาวะหายใจลำบากอาจคุกคามชีวิตได้ในบางช่วงเวลา ผลการตรวจสอบการตีบตันของทางเดินหายใจอยู่ในขั้นรุนแรง (ค่า FEV1/FVC น้อยกว่าร้อยละ 70; ค่า FEV1 น้อยกว่าร้อยละ 30) หรือค่า FEV1 น้อยกว่าร้อยละ 50 พร้อมทั้งมีภาวะล้มเหลวในระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่รุนแรงมาก (ระยะที่ 4) ถึงแม้ว่าค่า FEV1 มีค่ามากกว่าร้อยละ 30 เมื่อใดก็ตามที่มีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนี้เกิดขึ้น
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นภาวะขั้นรุนแรง ที่ส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายทาง เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง สิ่งบ่งชี้และอาการจึงอาจไม่สามารถสังเกตได้ จนกระทั่งมีอาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด หากคุณมีอาการหายใจลำบากหรือมีอาการไอโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบหมอเพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป