เห็บ ลักษณะกลมรี ตัวขนาดเล็ก ๆ มีหลายขา เห็บนั้นมีมากมายหลายร้อยชนิด พบได้ตามขนของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมว เพราะเห็บส่วนใหญ่เป็นปรสิตดูดกินเลือดของสัตว์ แต่ก็พบได้ในพื้นที่ป่า อาศัยอยู่บริเวณต้นหญ้าสูง ๆ หรือในพุ่มไม้ได้เช่นกัน ซึ่งเห็บจะได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนที่เกิดจากอุณหภูมิในร่างกายของมนุษย์ จึงกระโดดเกาะและดูดเลือดได้ ปากของเห็บจะกัดลงบนผิวหนังเพื่อดูดเลือดจนอิ่ม แล้วจึงคลายปาก หลุดออกไปได้เอง โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่อาจนานได้ถึง 7 วัน บริเวณที่พบเห็บกัดได้บ่อย เช่น รักแร้ ไรผม และซอกพับ
[embed-health-tool-bmr]
แพทย์นำเห็บออกจากร่างกายอย่างไร
กรณีที่แพทย์เห็นเห็บเกาะอยู่บนร่างกายของผู้ป่วย แพทย์จะคีบเอาเห็บออกโดยใช้แหนบคีบที่ส่วนหัวของเห็บแล้วค่อย ๆ ดึงขึ้นตรง ๆ อย่างนุ่มนวล ไม่คีบบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ ไม่บิดคีมขณะที่กำลังคีบ เพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บคงค้างอยู่ในผิวหนัง เกิดเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่แบบเรื้อรังตามมาได้ เมื่อตัวเห็บออกไปได้แล้ว จะรักษาอาการผิวหนังบวมแดงด้วยยาทาลดการอักเสบ รายที่บวมแดงมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาใต้ผิวหนังเพื่อลดอาการ
เห็บกัด มีอาการแบบไหน
ในช่วงแรกที่โดนเห็บกัด อาจไม่มีอาการ ไม่เจ็บ เพราะเห็บจะปล่อยสารที่ทำให้ชา ส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัว จนเกิดปฏิกิริยาที่ผิวหนัง ลักษณะของผู้ที่โดนเห็บกัดจะเป็นตุ่มแดง จากนั้นตุ่มอาจใหญ่เป็นปื้น บวมเป็นก้อนนูนได้ หลังจากถูกเห็บกัดแล้วจะเกิดอาการคันอย่างมากที่บริเวณตุ่ม
การรักษาตุ่มคันที่เป็นสาเหตุจากเห็บกัด แพทย์จะใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบ โดยให้ทายาอย่างสม่ำเสมอ เช้าและเย็น ให้ผื่นดีขึ้น กรณีตุ่มหรือผื่นดังกล่าวอักเสบมาก หรือมีอาการเรื้อรัง ตุ่มใหญ่เป็นก้อน อาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ หรือแพทย์อาจพิจารณาตัดตุ่มที่อักเสบออก เพราะการอักเสบดังกล่าวนั้นเรื้อรัง เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อส่วนปากของเห็บที่ติดอยู่ในผิวหนัง
อาการที่เกิดจากเห็บกัดมักเป็นเพียงอาการเฉพาะที่ แต่บางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังถูกเห็บบางชนิดกัด เกิดอัมพาตจากการถูกเห็บกัด โดยอาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไม่นานจะเกิดเป็นอัมพาต ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะระบบหายใจล้มเหลวที่เป็นอันตรายถึงชีวิต กรณีนี้มักเกิดภายใน 4-6 วันหลังโดนกัด แต่ภาวะนี้จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อคีบเอาเห็บออกจากผิวหนังของผู้ป่วย
เห็บก่อให้เกิดโรคอะไร
เห็บบางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น
- โรคไทฟัส
- โรคไข้กลับซ้ำ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคไลม์
วิธีป้องกันเห็บกัด
- สวมใส่เสื้อผ้าอย่างมิดชิด โดยเฉพาะกรณีเข้าป่าหรือเดินทางในสถานที่รก ๆ
- ใช้ยาทาป้องกันแมลงทาบริเวณแขนขา
- บริเวณรอบบ้านไม่ควรมีมีพงหญ้าสูง ๆ หมั่นทำความสะอาดต้นไม้ใบหญ้าอย่างสม่ำเสมอ
- ใช้น้ำยากำจัดเห็บราดตามพื้นบ้านด้านนอก
- หากมีสัตว์เลี้ยงควรดูแลความสะอาด ใช้ยาหยดเห็บหมัด หรือปรึกษาสัตวแพทย์
- เมื่อซื้อเสื้อผ้ามือสองหรือใช้เสื้อผ้าเก่า ควรทำความสะอาด เพราะเห็บเป็นพาหะนำโรคที่ชอบอาศัยอยู่ในใยผ้าที่สกปรก