อาการแพ้นมวัว (Cow’s milk allergy) เป็นอาการภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัวที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะปล่อยฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ออกมา จนทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น อาการทางผิวหนังอย่างผื่นแดง คัน ระคายเคือง ลมพิษ อาการในระบบทางเดินหายใจอาหารอย่างปากบวม เสียวซ่าในปาก อาเจียน อาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างน้ำมูกไหล คัดจมูก ในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการแพ้เฉียบพลัน อย่างการหายใจลำบาก หมดสติ หากผู้ที่แพ้นมวัวมีอาการแพ้รุนแรงหลังบริโภคนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัว ควรรีบพาไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุดเพื่อรับรักษาอย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-bmi]
อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร
อาการแพ้นมวัวอาจแบ่งออกตามระดับความรุนแรงได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อาการแพ้เล็กน้อยถึงปานกลาง และอาการแพ้รุนแรงหรืออนาฟัยแลกซิส (Anaphylaxis) ดังนี้
อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น
- ผื่นคันหรือลมพิษบนผิวหนัง
- อาการบวมของริมฝีปาก ใบหน้า และดวงตา
- รู้สึกคันหรือเสียวซ่าภายในปากและรอบปาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- น้ำมูกไหล คัดจมูก
- ท้องเสีย
อาการแพ้รุนแรง เป็นอาการแพ้ขั้นรุนแรงที่เกิดขึ้นฉับพลัน ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและปิดกั้นการหายใจ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
- หายใจเสียงดังหรือหายใจเสียงหวีด
- ลิ้นบวม
- มีอาการบวมหรือแน่นในลำคอ
- เสียงแหบแห้ง
- หมดสติ
- ดูเซื่องซึมผิดปกติ ในกรณีของทารกและเด็กเล็ก
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มักมีโปรตีนจากนมวัว เช่น เบเกอรี เนย เนยเทียม ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม รวมถึงนมแกะและนมแพะที่มีโปรตีนคล้ายคลึงกับโปรตีนในนมวัว อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะเดียวกันได้
ปัจจัยเสี่ยงของ อาการแพ้นมวัว
ปัจจัยเสี่ยงของ อาการแพ้นมวัว
- เป็นผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและมีอาการแพ้อย่างอื่นอยู่ก่อนแล้ว
- เป็นโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema)
- พ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือเป็นโรคหอบหืด
- มีอายุน้อยกว่า 4 ปี
อาการแพ้นมวัว แตกต่างจากอาการแพ้แลคโตสอย่างไร
อาการแพ้นมวัว มักพบในเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 16 ปี เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว แต่อาการแพ้แลคโตส (Lactose intolerance) เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยแลกเทส (Lactase) ที่ทำหน้าที่ย่อยโปรตีนในนมวัว จึงไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งเป็นน้ำตาลธรรมชาติที่พบในนมวัวได้ และส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด ผายลมบ่อย
อาการแพ้แลคโตสมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงเหมือนอาการแพ้นมวัว และมีวิธีรักษาที่ต่างกัน การรักษาอาการแพ้แลคโตสอาจทำได้ด้วยการรับประทานยาเม็ดหรือหยดเอนไซม์แลคเทสก่อนมื้ออาหาร (อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคนที่แพ้แลคโตส) ลดปริมาณการบริโภคนมวัวในแต่ละครั้งให้ไม่เกิน 118 มิลลิลิตร บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ระบุบนฉลากว่าไม่มีปราศจากแลคโตสหรือแลคโตสฟรี (Lactose-free) เป็นต้น
ทางเลือกอาหารสำหรับทดแทนนมวัว
ทางเลือกอาหารสำหรับทดแทนนมวัว ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว อาจมีดังนี้
เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- นมผงจากโปรตีนถั่วเหลือง ทารกและเด็กเล็กที่มีอาการแพ้นมวัวสามารถบริโภคนมจากโปรตีนถั่วเหลืองได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- นมผงสูตรโปรตีนย่อยละเอียด (Extensively hydrolyzed formula หรือ eHF) เป็นนมวัวที่โปรตีนในนมผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) คือถูกย่อยสลายจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก และบางส่วนกลายเป็นกรดอะมิโน ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ แต่นมสูตรนี้อาจไม่เหมาะกับเด็กที่เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน
- นมผงสูตรโปรตีนจากข้าว เป็นนมสำหรับทารกที่ทำจากโปรตีนเข้มข้นจากข้าวที่ถูกย่อยจนละเอียด และเสริมด้วยกรดอะมิโน เช่น ไลซีน (Lysine) ทรีโอนีน (Threonine)
- นมผงสูตรกรดอะมิโน เป็นนมสำหรับทารกที่ทำจากกรดอะมิโน เหมาะสำหรับเด็กที่บริโภคนมผงสูตรอื่นแล้วยังมีการเจริญเติบโตช้าหรือยังแสดงอาการแพ้
เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป
สามารถบริโภคนมถั่วเหลืองเป็นอาหารทดแทนนมวัวได้เลย และอาจเลือกนมทางเลือกชนิดอื่น ๆ เช่น นมข้าว นมข้าวโอ๊ต นมพิสตาชิโอ นมอัลมอนด์ นมวอลนัต ที่มีแคลเซียมประมาณ 120 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณใกล้เคียงกับแคลเซียมจากนมวัว
การรักษาอาการแพ้นมวัว
การรักษาอาการแพ้นมวัวสามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือ หลีกเลี่ยงการบริโภคนมวัวและโปรตีนจากนมวัว ซึ่งอาจปฏิบัติได้ค่อนข้างยากสำหรับบางคน เนื่องจากนมเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด ระดับความรุนแรงของอาการแพ้นมวัวในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป หลายคนยังสามารถบริโภคนมวัวได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อนำไปประกอบอาหาร เช่น ขนมปัง หรือแปรรูปเป็นอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต ชีส
ทั้งนี้ ให้หมั่นสังเกตอาการของตัวเองว่าสามารถบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวชนิดใดได้บ้าง แล้วเลือกบริโภคแต่พอเหมาะ ไม่ควรบริโภคอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้นมวัวในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง สิ่งสำคัญคือ ต้องอ่านข้อมูลโภชนาการและส่วนประกอบบนฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อมาบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารที่ระบุว่ามีนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น เนย บัตเตอร์มิลค์ ครีม นมเปรี้ยว เนยใส ชีส โยเกิร์ต ของแข็งในนม (Milk solid) เวย์ (Whey) เคซีน (casein) เคซิเนต (Caseinates) ผงโปรตีน (Protein powders) คัสตาร์ด เป็นส่วนประกอบ
หากพบผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวรุนแรง ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด พยายามอย่าให้ผู้ป่วยขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางแบบฉับพลัน เพราะหากขณะนั้นมีภาวะความดันโลหิตต่ำอาจทำให้หมดสติได้ โดยทั่วไปคุณหมอจะรักษาภาวะนี้ด้วยการฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline หรือ Epinephrine) และดูแลตามอาการของผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวควรพกยาอะดรีนาลีนหรืออีพิเพ็น (Epipen) ติดตัวไว้เสมอ เพื่อใช้รักษาปฐมพยาบาลหากอาการแพ้กำเริบ