backup og meta

ค่าน้ำตาลปกติในผู้ป่วยเบาหวาน คือเท่าไร เช็คอย่างไร

ค่าน้ำตาลปกติในผู้ป่วยเบาหวาน คือเท่าไร เช็คอย่างไร

ค่าน้ำตาลปกติในผู้ป่วยเบาหวาน หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งโดยปกติมักอยู่ที่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสูงกว่า ผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานเพื่อใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมค่าน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป เพราะเมื่อระดับน้ำตาลยิ่งสูงก็จะยิ่งเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อันส่งผลร้ายต่อร่างกายมากยิ่งขึ้นไปอีก

[embed-health-tool-bmi]

ผู้ป่วยเบาหวานกับค่าน้ำตาลในเลือด

โดยปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นหลังรับประทานอาหาร และอินซูลินจะถูกหลั่งออกมาเพื่อลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นพลังงาน และทำให้ค่าน้ำตาลลดลงสู่ระดับปกติ

ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำตาลถูกลำเลียงออกไปน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และมีน้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมากขึ้น การสะสมของน้ำตาลในเลือด ทำให้ค่าน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานสูงกว่าคนทั่วไป และยังเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ หากไม่ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักหากเป็นโรคอ้วน รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินตามแผนการรักษาของคุณหมอ

วิธีการตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด

ค่าน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน สามารถตรวจได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร

การตรวจน้ำตาลหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar Test) เป็นการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดจากตัวอย่างเลือด ซึ่งจำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และผลตรวจที่ได้คือค่าน้ำตาลขณะเจาะเลือด ซึ่งในแต่ละช่วงมีความหมายดังนี้

  • 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน
  • ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
  • ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ

ทั้งนี้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ค่าน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน ควรถูกควบคุมให้อยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก่อนมื้ออาหาร และน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังมื้ออาหาร

ตรวจน้ำตาลในเลือดแบบ Hba1c

การตรวจน้ำตาลในเลือดแบบ HbA1c ย่อมาจาก ฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C) เป็นการตรวจเลือดเพื่อให้ทราบค่าน้ำตาลเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากปริมาณน้ำตาลกลูโคสบนโปรตีนฮีโมโกลบิน อันเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง

ค่าน้ำตาลซึ่งตรวจแบบ Hba1c จะแสดงค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

  • 6.5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน
  • ระหว่าง 5.7-6.4 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน
  • ต่ำกว่า 5.7 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ

การตรวจความทนต่อน้ำตาล

การตรวจความทนต่อน้ำตาล (Oral Glucose Tolerance Test) คือการตรวจความสามารถในการใช้น้ำตาลของร่างกาย โดยต้องงดอาหารข้ามคืน แล้วตรวจค่าน้ำตาลในเลือด 1 ครั้ง จากนั้นดื่มของหวานที่มีน้ำตาลรสหวาน แล้วรอ 2 ชั่วโมงจึงตรวจค่าน้ำตาลอีกครั้ง โดยผลตรวจที่ได้ มีความหมายดังนี้

  • 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน
  • ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
  • ต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดปกติ

การตรวจเลือดแบบสุ่มเพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจเลือดแบบสุ่ม (Random Blood Sugar Test)  คือการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในช่วงเวลาใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อน และหากพบค่าน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรหรือมากกว่า จะหมายความว่าเป็นโรคเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีตรวจพบค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ยังไม่สามารถใช้ระบุว่าได้ว่าไม่เป็นเบาหวานหรือ มีภาวะก่อนเบาหวาน จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยอย่างละเอียดอีกครั้ง

ความเสี่ยงต่อสุขภาพเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง

หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ควบคุมน้ำหนัก ไม่วางแผนโภชนาการโดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีไขมันต่ำและน้ำตาลต่ำ รวมทั้งไม่ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการรับประทานยาและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอ อาจเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยเบาหวานเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้

  • การติดเชื้อต่าง ๆ อาทิ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากมีปริมาณสารคีโตนในกระแสเลือดมากผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย หายใจติดขัด ในกรณีรุนแรงผู้ป่วยเบาหวานอาจหมดสติหรือเสียชีวิตได้
  • หลอดเลือดเสียหาย หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งขึ้นกว่า ปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่งผลให้การลำเลียงเลือดและออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมาได้
  • เบาหวานขึ้นตา เกิดจากความเสียหายของหลอดเลือดจอประสาทตา ส่งผลให้ตาพร่ามัว จอประสาทตาหลุดออก หรือตาบอด
  • เบาหวานลงเท้า เกิดจากการเสื่อมหรือตีบของหลอดเลือดแดงในร่างกาย ร่วมกับการเสื่อมของเส้นประสาทส่วนปลาย มีผลให้ผู้ป่วยรู้สึกชาหรือร้อนวูบวาบที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดบาดแผลที่เท้า เช่น เดินสะดุด ผิวแห้งแตก ทำให้แผลไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนส่งผลให้เกิดแผลเรื้อรังที่เท้า และเป็นอันตรายหากแผลเน่าเปื่อยหรือลุกลามอาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้ต้องตัดเท้า
  • โรคไตจากเบาหวาน หลอดเลือดที่ไตอาจถูกทำลายเนื่องจากปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติ ทำให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะมีโปรตีนรั่วไหลในปัสสาวะ มือ-เท้าบวม ไม่อยากอาหาร และมีอาการสับสน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวาน ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Why diabetes can damage your blood vessels, and how to know if you’re at risk. https://vascular.org/news-advocacy/why-diabetes-can-damage-your-blood-vessels-and-how-know-if-you%E2%80%99re-risk. Accessed February 28, 2023

Diabetic nephropathy (kidney disease). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetic-nephropathy/symptoms-causes/syc-20354556. Accessed February 28, 2023

All About Your A1C. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/managing-blood-sugar/a1c.html. Accessed February 28, 2023

Dangers of Uncontrolled Blood Sugar. https://www.webmd.com/diabetes/uncontrolled-blood-sugar-risks. Accessed February 28, 2023

Hyperglycemia in diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperglycemia/symptoms-causes/syc-20373631. Accessed February 28, 2023

Hyperglycaemia (high blood sugar). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/. Accessed February 28, 2023

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนเป็นเบาหวานกินอะไรได้บ้าง

โรคเบาหวาน สาเหตุ อาการ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา