น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย เเต่มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงเเก่ชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 เกิดจากอะไร
การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน จึงทำให้ไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้ ร่วมกับการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเเละน้ำตาลในปริมาณมาก หรือ รับประทานยา/ฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอจนส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงมากจนเกินไป
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ที่ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 ดังนี้
- ผู้ป่วยไม่ดูเเลสุขภาพให้ดี เช่น ไม่รับประทานยาลดระดับน้ำตาล หรือ รับประทานยาไม่สม่ำเสมแ ไม่ออกกำลังกาย ไม่ควบคุมอาหาร
- โรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคไต เพราะอาจทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ภาวะติดเชื้อ หรือ การเจ็บป่วยแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต้านกับอินซูลินเพิ่มมากขึ้น จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้
- ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ และยารักษาโรคหอบหืด ซึ่งมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 อันตรายหรือไม่
น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จัดอยู่ในเกณฑ์ที่อันตรายมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Diabetic Hyperosmolar Syndrome) ซึ่งนำไปสู่อาการโคม่า เเละ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาเป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิตได้
ควรทำอย่างไรหากน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500
หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จนถึง 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมากกว่านั้น เป็นประจำร่วมกับมีอาการผิดปกติ เช่น กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย มีไข้ รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และ ซึมลง ควรรีบไปโรงพยาบาลเพือรับการรักษาในทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเเทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงเเก่ชีวิต
วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจทำได้ดังนี้
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ โดยสามารถตรวจได้ด้วยตนเองด้วยเครื่องตรวจเเบบปลายนิ้ว เพื่อให้ทราบว่าตนเองนั้นควบคุมเบาหวานได้ดีมากน้อยเพียงใด รวมทั้งบันทึกค่าน้ำตาลพร้อมช่วงเวลาที่ตรวจเพื่อเป็นข้อมูลให้คุณหมอทราบซึ่งจะช่วยให้ปรับการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
- ดื่มน้ำเปล่าเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ เเละอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลสูงฉุกเฉินที่อันตรายตามมาได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเน้นการรับประทานผัก ธัญพืช และผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง กีวี่ ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ แอปเปิ้ลเขียว ข้าวโอ๊ต ปลาแซลมอนอัลมอนด์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก โดนัท น้ำผลไม้ คุกกี้ ไอศกรีม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น เดิน วิ่ง หรือทำงานบ้านทั่วไป อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาล และอาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมได้ดีขึ้น
- รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือ ฉีดอินซูลิน ตามที่คุณหมอเเนะนำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับขนาดยา หรือ วิธีการรับประทานยาเอง รวมทั้งไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อให้สามารถติดตามและประเมินการรักษาได้อย่างเหมาะสม