ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยอาจมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การขาดการออกกำลังกาย การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงควรศึกษาวิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายจากการมีน้ำตาลในเลือดสูง
[embed-health-tool-bmi]
สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
สาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีดังนี้
- ความผิดปกติของตับอ่อน อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิไปทำลายเซลล์ในตับอ่อน หรือตับอ่อนถูกทำลายจากสาเหตุภายนอก เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ อุบัติเหตุ โรคมะเร็ง จนส่งผลให้ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ และทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ภาวะดื้ออินซูลิน เกิดจากเซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินเพื่อนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นสาเหตุหลักของโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- การรับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ขนมหวาน ของทอด อาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ที่ใส่น้ำตาล เพราะเมื่อแป้งและน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในรูปน้ำตาลกลูโคส หากบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในปริมาณมาก จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้
- การขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยเผาผลาญน้ำตาลและพลังงานส่วนเกินแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน และช่วยลดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลได้ดีขึ้น
- ความเครียด เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งส่งผลต้านกับการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน จึงส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- การเจ็บป่วย ช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือจากโรคหรือสาเหตุอื่น ๆ อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้ม ยาขับปัสสาวะ อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อันตรายอย่างไร
การมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ คือ ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารอยู่ที่ 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะนับว่ามีภาวะก่อนเบาหวานและโรคเบาหวานได้ (ขึ้นกับค่าระดับน้ำตาล) และหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื้อรัง โดยไม่ควบคุมน้ำตาลให้ดีอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
- โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- โรคปลายประสาทเสื่อม
- ภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน ทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือด จนอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง เช่น นิ้วเท้า เท้า
- โรคไตวายเรื้อรัง
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา ทำให้เกิดปัญหาด้านการมองเห็น เช่น ตาพร่ามัว ต้อกระจก ตาบอด
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย เช่น ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อในปอด
- โรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ
- ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉิน
- ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเปลี่ยนไปเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดคีโตน (Ketone) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด และเมื่อมีคีโตนสะสมมากขึ้น จะนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจส่งผลให้มีอาการโคม่าและทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
- ภาวะโคม่าจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperosmolar Hyperglycemic Stat) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยภาวะนี้ร่างกายจะไม่มีสารคีโตน จึงไม่ทำให้เลือดเป็นกรด แต่การที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ จะส่งผลให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำตามมา ซึ่งทำให้ความเข้มข้นเลือดสูงมากเกินไป จนกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล แป้ง และไขมันสูง เช่น ข้าวขาว ผลิตภัณฑ์จากแป้งขัดขาว เช่น ขนมปังขาว เส้นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน เนื้อสัตว์ติดมัน ของทอด อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ และน้ำอัดลม เพราจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้มาก ควรเน้นรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อีกทั้งควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น
- ออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรืออาจแบ่งเป็นวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ รวมทั้งเพิ่มการขยับร่างกายหรือเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น และเพิ่มความไวต่ออินซูลินที่มีส่วนสำคัญในการจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่มีโรคร่วมซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายบางประเภท อาจปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการออกกำลังที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย
- คลายเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อ่านหนังสือ ดูหนัง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ การตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตนเองจะทำให้ทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากน้อยเพียงใด หรือกำลังเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและโรคเบาหวานหรือไม่ นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคร่วมด้วย