backup og meta

ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน เป็นภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี หรืออาจมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ มากระตุ้น ซึ่งควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินจากน้ำตาลสูงที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรด เเละ ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ส่วนในคุณเเม่ตั้งครรภ์ที่มีเบาหวานร่วมด้วย หากควบคุมไม่ดี ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณเเม่ เเละ ทารกในครรภ์

[embed-health-tool-bmi]

โรคเบาหวาน คืออะไร

เบาหวาน เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างเรื้องรัง สาเหตุหลัก ๆ เกิดจากตับอ่อนที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือ เซลล์ในร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป ทั้งนี้ ฮอร์โมนอินซูลินมีหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลไปเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานและ เก็บน้ำตาลส่วนเกินไว้ในรูปแบบพลังงานสำรองที่ตับ ดังนั้น กระบวนการจัดการน้ำตาลของร่างกายบกพร่องไป จึงทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในกระเเสเลือด เเละหากมีระดับน้ำตาลหลังอาหาร สูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป จะเข้าเกณฑ์วินิจฉัยโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน ที่อันตราย มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวานมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการรุนแรง หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะหากปล่อยไว้ อาการจะยิ่งแย่ลง จนอาจถึงเเก่ชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน มีดังนี้

1.     ภาวะเลือดเป็นกรด

ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่วมกับร่างกายไม่สามารถผลิดอินซูลินออกมาได้เพียงพอ จึงทำให้เซลล์ต่าง ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเปลี่ยนไปเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงานเเทน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดสาร คีโตนซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด เเละเมื่อมีคีโตนสะสมอยู่ในเลือดมากเกินไปจึงส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด

ภาวะเลือดเป็นกรดอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นหลายสาเหตุ เช่น มีไข้ มีการติดเชื้ออุบัติเหตุ หรือ เข้ารับการผ่าตัด ขาดยา หรือ รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ หรือ ได้รับยาบางประเภท เช่นคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

อาการที่เป็นสัญญาณของภาวะเลือดเป็นกรด เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (มากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • หายใจหอบลึก
  • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยว ซึ่งเป็นกลิ่นของคีโตน

หากมีอาการแสดงดังกล่าว ควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสมในทันที เนื่องจากภาวะนี้หากปล่อยทิ้งไว้ อาจรุนเเรงจนถึงแก่ชีวิตได้

2.     ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperosmolar Hyperglycemic Syndrome หรือ HHS) เป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินรุนเเรงของโรคเบาหวาน โดยเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเเละมักมีปัจจัยกระตุ้นอื่นเสริมเช่น การติดเชื้อ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียน้ำจากร่างกาย เเละหากร่างกายได้รับน้ำทดเเทนไม่เพียงพอ (จึงมักพบในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยติดเตียง) จะทำให้ไตขับน้ำตาลทิ้งทางปัสสาวะได้ลดลง ระดับน้ำตาลก็จะยิ่งสูงขึ้น ก็จะทำให้ความเข้มข้นของเลือดยิ่งสูงมากขึ้น จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและส่งผลต่อการทำงานของสมองซึ่งอาจรุนเเรงจนเกิดภาวะโคม่าได้ อาจมีอาการแสดง ดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากร่างกายพยายามขับน้ำตาลบางส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เเต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจปัสสาวะลดลง และ มีสีปัสสาวะเข้มขึ้น เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ
  • กระหายน้ำมากขึ้น ปากเเห้ง คอเเห้ง
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • มีไข้สูง (หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย)
  • ตาพร่ามัว
  • สับสน มึนงง ซึมลง ไม่รู้สึกตัว

ทั้งนี้ ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูงจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ยังอาจมีภาวะเเทรกซ้อนรุนเเรง เช่น ชัก โคม่า ภาวะเกร็ดเลือดต่ำและเลือดออกง่าย ไตวายเฉียบพลัน ระบบหายใจเเละความดันโลหิตล้มเหลวภาวะลำไส้ขาดเลือด เเละอาจเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เกิดขึ้นไม่บ่อย คิดเป็นอัตราน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด โดยผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่อาจช่วยเหลือตนเองไม่ได้เต็มที่ ผู้ที่มีโรคร่วมอื่น ๆ มาก เเละ ผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้น หากมีคนใกล้ชิดที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้หมั่นดูเเลสุขภาพ รวมไปถึงควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย

3. ภาวะครรภ์เป็นพิษ

เมื่อคุณเเม่ที่เป็นเบาหวานอยู่เดิม หรือเดิมไม่เคยเบาหวาน เเต่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) ทั้งสองกรณีนี้อาจทำให้คุณเเม่เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์เเละนำไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณเเม่และทารกในครรภ์

อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ ปวดจุกเเน่นท้อง เหนือยหายใจลำบาก ขาบวม บางรายอาจมีอาการรุนเเรงทำให้คุณเเม่มีอาการชัก เเละเกิดการเเท้งบุตรได้

เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะรุนเเรง ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณหมอให้คุณเเม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เเละ ให้ยาลดความดันทางน้ำเกลือ รวมถึงอาจจำเป็นต้องให้คลอดทารกก่อนกำหนด โดยหลังคลอด ภาวะนี้มักทุเลาลงได้เอง แต่ในคุณเเม่บางรายอาจยังมีความดันโลหิตสูงอยู่ ซึ่งจำเป็นจะต้องรับประทานยาลดความดันต่อเนื่องไปตลอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Diabetic Ketoacidosis. https://www.cedars-sinai.org/health-library/diseases-and-conditions/d/diabetic-ketoacidosis.html#:~:text=Diabetic%20ketoacidosis%20(DKA)%20is%20a%20serious%20life%2Dthreatening%20condition,fluid%20loss%20and%20other%20problems. Accessed August 16, 2022

Diabetes Emergencies: How You Can Help. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-emergencies-what-to-do#:~:text=Diabetic%20ketoacidosis%2C%20or%20DKA%2C%20is,could%20fall%20into%20a%20coma. Accessed August 16, 2022

Preeclampsia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/preeclampsia/symptoms-causes/syc-20355745#:~:text=Preeclampsia%20is%20one%20high%20blood,gestational%20hypertension%20may%20develop%20preeclampsia. Accessed August 16, 2022

Hyperosmolar hyperglycemic state. https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperosmolar_hyperglycemic_state. Accessed August 16, 2022

Diabetic hyperglycemic hyperosmolar syndrome. https://medlineplus.gov/ency/article/000304.htm. Accessed August 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับ เบาหวาน มีประโยชน์อย่างไร

เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา