หน่วยไต คือ ส่วนประกอบย่อยของไตที่ทำหน้าที่สำคัญในการกรองและขจัดของเสียรวมถึงของเหลวส่วนเกินในกระแสเลือดออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ การได้ทราบข้อมูลว่า หน่วยไตของผู้ที่มีโรคเบาหวาน มีความผิดปกติอย่างไร อาจช่วยให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของโรคเบาหวาน สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดี และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคไต
โดยทั่วไปแล้ว หน่วยไตของผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้จะสามารถทำงานได้อย่างปกติดังเช่นในคนทั่วไป แต่หากควรคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะหากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นาน 10-15 ปีขึ้นไป จะส่งผลให้ไตและหน่วยไตเสื่อมสภาพ เป็นที่มาของ ภาวะเบาหวานลงไต ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น ปรับอาหาร ออกกำลังกายเป็นประจำ เลิกสูบบุหรี่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตจากการเป็นโรคเบาหวาน
[embed-health-tool-bmi]
หน่วยไต คืออะไร
ไตเป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายถั่ว มี 2 ข้าง อยู่ภายในช่องท้องด้านหลังระดับบั้นเอว แบ่งได้เป็นเนื้อเยื่อไตชั้นนอก (Cortex) และเนื้อเยื่อไตชั้นใน (Kidney Medulla) ภายในประกอบด้วย หน่วยไต หรือเนฟรอน (Nephron) ประมาณ 1 ล้านหน่วย ที่คอยทำหน้าที่กรองของเสียภายในร่างกายจากกระแสเลือด และขับออกทางปัสสาวะ ทั้งยังมีระบบสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นบางส่วนกลับคืนสู่กระแสเลือด ไม่ว่าจะเป็นโซเดียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เพื่อรักษาสมดุลของแร่ธาตุเหล่านี้ให้เหมาะสม ส่งผลให้การทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ รวมถึงเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในร่างกายเป็นไปตามปกติและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไตยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสมดุลกรด-ด่างภายในร่างกาย และช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย
โครงสร้างของหน่วยไต ประกอบด้วย
- โกลเมอรูลัส (Glomerulus) กลุ่มเส้นเลือดฝอยที่แยกต่อมาจากเส้นเลือดแดงของไต ขดตัวเป็นก้อนอยู่ภายในโบว์แมนส์แคปซูล ทำหน้าที่หลักในการกรองของเสียจากในเลือด
- โบว์แมนส์แคปซูล (Bowman’s capsule) เนื้อเยื่อบาง ๆ รูปทรงคล้ายถ้วยซึ่งจะห่อหุ้มโกลเมอรูลัส อีกชั้น ทำหน้าที่กรองของเหลวจากกระแสเลือดที่ผ่านการกรองจากโกลเมอรูลัสแล้ว
- ท่อไต (Renal tubule) ท่อไตจะรองรับของเหลวต่อจากโบว์แมนส์แคปซูล แบ่งเป็นหลายส่วน เช่น ท่อไตส่วนต้น ท่อไตส่วนปลาย ท่อไตรวม ทำหน้าที่ดูดสารอาหารและเกลือแร่ที่จำเป็นกลับคืนสู่กระแสเลือด และขับสารที่ร่างกายไม่ต้องการออกมาในรูปแบบปัสสาวะ
หน่วยไตของผู้ที่มีโรคเบาหวาน มีความผิดปกติอย่างไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ หากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้มาเป็นเวลานานหลายปี หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย อาจทำให้เนื้อเยื่อและหลอดเลือดที่เป็นส่วนประกอบของไตเสียหาย กลุ่มหลอดเลือดฝอยในหน่วยไตเสื่อมลงและเกิดเป็นพังผืด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการกรองของเสียที่ไตลดลง และทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือผิดปกติไปด้วย เมื่อไตเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดเป็นภาวะไตเสื่อมเรื้อรังและก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา
โดยทั่วไป ความเสียหายของไตจากโรคเบาหวาน หรือ ภาวะเบาหวานลงไต อาจเริ่มขึ้นหลังจากเป็นโรคเบาหวานประมาณ 10-15 ปี และหากการทำงานของไตลดลงแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้ไตกลับสู่สภาพเดิมได้อีก การรักษาจะเน้นไปที่การประคับประคองไม่ให้ไตเสื่อมมากขึ้น ด้วยการจัดการกับสาเหตุและปัจจัยที่ส่งเสริมให้ไตต้องทำงานหนัก ดังนั้นการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เบาหวานลงไตจนนำไปสู่โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเบาหวานลงไต อาจมีดังนี้
- เป็นโรคเบาหวานมานานกว่า 10 ปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
- มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ตามเกณฑ์
เบาหวานลงไต อาการ เป็นอย่างไร
อาการเบาหวานลงไต อาจมีดังนี้
- รู้สึกอ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น บางรายปัสสาวะมีฟองมากขึ้น
- คลื่นไส้
- ขาบวม ตาบวม
- ผิวแห้ง คันตามผิวหนัง
- นอนไม่หลับ
การดูแลตัวเองเมื่อเบาหวานลงไต
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตเสื่อม สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ได้แก่ อาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อปลา นมไขมันต่ำ ไข่ขาว หลีกเลี่ยงโปรตีนจากเนื้อแดง และใช้วัตถุดิบที่สด สะอาด และจำกัดการบริโภคโซเดียมหรือเกลือ ไม่บริโภคเกลือเกินวันละ 1 ช้อนชา และไม่บริโภคโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป อาหารสจัด อาหารเปรี้ยวหรือเค็มจัด อาหารหมักดอง เพื่อไม่ให้ไตต้องทำงานหนักในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย นอกจากนี้ยังควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เบาหวานลงไตมากขึ้น
- ไปพบคุณหมอตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจค่าการทำงานของไต และตรวจภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากไตเสื่อม เพื่อป้องกันไม่ให้การทำงานของไตทรุดลง และดูแลสุขภาพโดยรวมให้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเบาหวานลงไต
เมื่อเบาหวานลงไต หรือเกิดภาวะไตเสื่อมแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมาดีดังเดิมได้ เนื่องจากประสิทธิภาการทำงานของไตเมื่อถูกทำลายแล้วจะเสื่อมลงอย่างถาวร และอาการมักค่อยเป็นค่อยไป หากไม่ได้ตรวจเลือดวัดค่าการทำงานของไตเป็นระยะ ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติ และอาจมีอาการแสดงเมื่อความเสียหายลุกลามไปมากแล้ว ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานดูแลตัวเองด้วยวิธีเบื้องต้นต่อไปนี้ เพื่อป้องกันเบาหวานลงไต รวมถึงชะลอความเสื่อมของไตให้ได้มากที่สุด
- ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท ด้วยการจำกัดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ปลาเค็ม กุ้งแห้ง อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป ลดการเติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหาร เพื่อช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยปริมาณโซเดียมที่แนะนำต่อวัน คือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม หรือ อาจเทียบได้กับเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา น้ำปลาไม่เกิน 1 ช้อนโต๊ะ แต่หากมีภาวะความดันโลหิตสูงแล้ว คุณหมออาจให้เริ่มรับประทานยาลดความดันโลหิต เพื่อควบคุมไม่ให้สูงจนเกินไป และเป็นการชะลอหรือป้องกันไม่ให้ไตต้องทำงานหนัก
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชเต็มเมล็ด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น นอกจากนี้ แนะนะให้หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอยู่เสมอ และไปพบคุณหมอตามนัดอย่างเคร่งครัด เพื่อประเมินและปรับการรักษาให้เหมาะสม
- แจ้งให้คุณหมอทราบหากมีอาการผิดปกติหรืออาการที่อาจเป็นสัญญาณของเบาหวานลงไต เช่น ถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ถ่ายปัสสาวะเป็นฟองมากขึ้น หรือปริมาณปัสสาวะลดลง มีอาการเท้าบวม ตาบวม รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะไตเสื่อม นอกจากนี้ หากมีอาการถ่ายปัสสาวะแสบขัด ถ่ายปัสสาวะไม่สุด ปวดหน่วงท้องน้อย มีไข้ อาจเป็นอาการการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ให้รีบไปพบคุณหมอทันที เพราะหากได้รับการรักษาช้าหรือไม่เหมาะสม อาจทำให้การติดเชื้อลุกลามไปยังไตได้
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ส่งผลให้หลอดเลือดในไตเสื่อมลงโดยตรง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด ลดอักเสบกลุ่ม (NSAIDs) โดยไม่จำเป็น เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาโพรเซน (Naproxen) เพราะยากลุ่มนี้หากรับประทานติดต่อกันหลาย ๆ วัน อาจส่งผลให้ไตทำงานลดลงได้ นอกจากนี้ ยังควรงดรับประทานยาสมุนไพร ยาชุด หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่ไม่มีอ.ย. เพราะอาจมีสารที่เป็นพิษต่อไตผสมอยู่ด้วย ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาและเลือกซื้ออาหารเสริมทุกครั้ง