backup og meta

อาการ โรค เบาหวาน ระยะสุดท้าย เป็นอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    อาการ โรค เบาหวาน ระยะสุดท้าย เป็นอย่างไร

    อาการ โรค เบาหวาน ระยะสุดท้าย หรือภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้เป็นเวลานานหลายปี ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อรักษาให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายและป้องกันอันจะป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

    อาการ โรค เบาหวาน ระยะสุดท้าย

    โดยทั่วไปแล้ว อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย มักหมายถึงอาการที่เป็นผลมาจากภาวะเเทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้อย่างเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นเวลานานตั้งแต่ 5 -20 ปีขึ้นไป จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเนื่องจากเส้นเลือดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเสียหายหรือเสื่อมสภาพลง ซึ่งกลายเป็นภาวะสุขภาพระยะยาวที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

    อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย หรือภาวะเเทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวานที่อาจพบได้ มีดังนี้

    • ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular problems)

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง มักมีภาวะสุขภาพร่วมอื่น ๆด้วย เช่น ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งล้วนส่งผลให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เนื่องจากเกิดการสะสมของไขมันทีผนังหลอดเลือด ผนังหลอดเลือดหัวใจจึงหนาตัว ส่งผลให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ไม่เต็มที่ นอกจากหลอดเลือดหัวใจเเล้วยังสามารถเกิดความเสื่อมกับหลอดเลือดสมอง เเละ หลอดเลือดส่วนปลายได้เช่นเดียวกัน

    • ปัญหาเกี่ยวกับไต (Kidney problems) หรือโรคไต (Nephropathy)

    เมื่อไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นระยะเวลานาน ทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเเละความดันโลหิตสูง(ที่มักพบร่วมกัน) จะส่งผลให้หลอดเลือดฝอยในไตเสื่อมสภาพลง หรือที่มักเรียกว่า ภาวะเบาหวานลงไต เมื่อไตจะเสื่อมสภาพ จึงทำให้หน้าที่ในการกำจัดของเหลวส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกายผิดปกติไป เเละหากไม่รีบกลับมาควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์  ก็อาจลุกลามจนเกิดเป็นโรคไตวายเรื้อรังในที่สุด

    โดยทั่วไปภาวะเบาหวานลงไตอาจไม่แสดงอาการให้สังเกตุได้ชัดจนกระทั่งไตเสื่อมไปขั้นรุนแรงแล้ว การไปพบคุณหมอตามนัดหมายเพื่อเข้ารับการตรวจเลือดวัดค่าการทำงานของไต เเละ การตรวจปัสสาวะเพื่อคัดกรองภาวะอัลบูมินนูเรีย (albuminuria) หรือภาวะโปรตีนอัลบูมินรั่วในปัสสาวะ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยเบาหวานควรให้ความสำคัญ โดยหากตรวจพบโปรตีนอัลบูมินนี้ในปัสสาวะในปริมาณตั้งแต่ 30-300 มิลลิกรัมขึ้นไป อาจหมายถึงเริ่มมีปัญหาไตเสื่อมในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถชะลอหรือป้องกันความเสียหายได้

    • ภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)

    เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เกิดจากมีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังจนทำให้เส้นเลือดฝอยในจอตาและระบบประสาทการับภาพเสื่อมลง รวมทั้งอาจมีของเหลว เลือด และไขมันรั่วซึมในจอตาทำให้อาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น สายตามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว แยกแยะสีลำบาก มองเห็นเส้นดำคล้ายหยากไย่ลอยในลานสายตา ทั้งยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติของดวงตา เช่น ภาวะจอประสาทตาบวม ภาวะจอตาขาดเลือด โรคต้อหิน (Glaucoma) โรคต้อกระจก (Cataract) หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดอย่างถาวรได้ ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจจอประสทตาเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการคัดกรองป้องกันความผิดปกติของดวงตาตั้งแต่เนิ่น ๆ

  • อาการทางระบบประสาท (Neuropathy)
  • เมื่อผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมานานและไม่สามารถควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมได้ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างเรื้อรังจะส่งผลให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆเสียหาย เกิดโรคปลายประสาทอักเสบ/เสื่อม ทำให้เกิดอาการชาตามปลายนิ้ว รู้สึกหนักที่เท้า หรืออาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ เป็นต้น

    อาการเบาหวานลงเท้า  เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาหรือปวดเท้า ไปจนถึงสูญเสียความรู้สึก เกิดเนื่องมาจากเส้นประสาทที่บริเวณเท้าเสื่อมลงเเละหากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและดูแลสุขภาพเท้าให้ดี อาจทำให้เกิดแผลเรื้อรัง จนนำไปสู่การตัดเท้า/ขาได้ 

    การดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณ์เหมาะสม อาจทำได้ดังนี้

  • หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ ด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดปลายนิ่ว ซึ่งจะช่วยให้ตัวผู้ป่วยสามารถประเมินระดับน้ำตาลของตนในแต่ละวันและปรับเปลี่ยนวิธีดูแลตนเองได้เหมาะสมมากที่สุด
  • รับประทานยารักษาโรคเบาหวาน ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และ หากมีกิจกรรมหรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้เเรงเยอะมากกว่าปกติ ให้ปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องปรับยาลดระดับน้ำตาลบางชนิดลง เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากร่างกายจะมีการเผาเผลาญพลังงานมากขึ้นในช่วงดังกล่าว
  • เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ ส่งผลทำให้เส้นเลือดเสื่อมเเละตีบตันจนการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ สมอง รวมไปถึงอวัยวะส่วนปลาย เช่น เท้า ผิดปกติไป เเละทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาทิเช่น คาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี ได้เเก่ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ธัชพืช หรือ อาหารกลุ่มโฮวีต อาหารที่มีใยอาหารสูงได้เเก่ ผัก ผลไม้(เลือกชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ) ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว ซึ่งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานหรือแคลอรีสูงหรือมีน้ำตาลสูง เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันสัตว์ น้ำหวาน น้ำผลไม้ ทั้งนี้ เเนะนำให้ดูแลด้านโภชนาการควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีเเล้ว ยังช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ควบคุมความดันโลหิต และช่วยลดระดับคอเรลเตอรอลได้อีกด้วย นับเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานอีกวิธีหนึ่ง
  • ทำตัวให้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์เมื่อต้องขึ้นลงเพียงไม่กี่ชั้น จอดรถไกลจากอาคารมากขึ้น เพื่อให้ได้เดินออกกำลัง หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ อาจสลับกับการเดิน/ยืดเส้นยืดสายสั้น ๆ 2 – 3 นาที  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย และเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายจัดการกับระดับน้ำตาลได้ดียิ่ง
  • หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนคอร์ติซอลนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำตาลออกมามากขึ้น จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ดังนั้นจึงอาจหากิจกรรมคลายเครียด ที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียดได้ เช่น อ่านหนังสือ ปั่นจักรยานในสวน เล่นโยคะ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา