backup og meta

เบาหวานลงเท้ารักษาอย่างไร และวิธีดูแลสุขภาพเท้าอย่างเหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    เบาหวานลงเท้ารักษาอย่างไร และวิธีดูแลสุขภาพเท้าอย่างเหมาะสม

    ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาแผลเรื้อรังบริเวณเท้า แผลหายช้า หรือที่มักเรียกว่า ภาวะเบาหวานลงเท้า ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากหลอดเลือดเเละเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย จากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาเป็นระยะเวลานาน โดยทั่วไป เบาหวานลงเท้า สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์เป้าหมายอยู่เสมอ ร่วมกับการดูเเลสุขภาพเท้าความ ทำสะอาดของเท้าให้ดี ทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ลดการเกิดผิวแห้งแตก รวมทั้งการขยับร่างกายบ่อย ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงขาและเท้าได้สะดวกขึ้น

    ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ขาหรือเท้าเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเข้มขึ้น เท้าบวม ปวด ชา แผลมีกลิ่นเหม็น หรือ มีหนองอักเสบ ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    เบาหวานลงเท้าเกิดจากอะไร

    โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) หรือที่มักเรียกว่า เบาหวานลงเท้า เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ที่ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีมาเป็นระยะเวลานาน การปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลอดเลือดและเส้นประสาทถูกทำลาย ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ขาได้น้อยลง เนื้อเยื่อจึงขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง รวมถึงเส้นประสาทขาดเลือด จึงทำให้การรับความรู้สึกที่เท้าผิดปกติไป จึงทำให้เท้าเป็นแผลได้ง่าย แผลหรือการติดเชื้อหายช้าปกติ จนอาจลุกลามเป็นแผลเนื้อตาย (Gangrene) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้หรือไม่รับการรักษาที่เหมาะสม อาจจำเป็นต้องตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขาส่วนที่มีเนื้อตายออก เพื่อป้องกันมิให้เนื้อตายลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรใส่ใจสุขภาพเท้าของตัวเองอยู่เสมอ

    อาการเบาหวานลงเท้า

    อาการเบาหวานลงเท้า อาจมีดังนี้

    • ผิวหนังบริเวณเท้ามีสีคล้ำขึ้น
    • มีอาการปวดแสบปวดร้อน ที่เท้า
    • รู้สึกชา ปวดแปลบเหมือนมีเข็มทิ่ม
    • ขนที่เท้า/ขา ร่วง เเล้วไม่มีขนขึ้นใหม่
    • การรับความรู้สึกบริเวณเท้าลดลง รู้สึกถึงอุณหภูมิ ความเจ็บปวด หรือ การรับสัมผัสลดลง

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวานหรือเบาหวานลงเท้า อาจเสี่ยงต่อการเกิดเเผลที่เท้าได้ง่าย ควรตรวจสุขภาพเท้าของตัวเองสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ

    • ผิวหนังบริเวณเท้าหรือเล็บเท้าเปลี่ยนแปลง
    • มีบาดแผล ตุ่มพอง ตาปลาแบบผิวด้าน (Callus)
    • แผลมีหนองหรือของเหลว
    • แผลส่งกลิ่นเหม็น หรือ เเผลหายช้ากว่าปกติ
    • มีอาการปวดแผล
    • มีรอยแดง
    • เท้าเปลี่ยนสี
    • มีอาการบวมตามนิ้วเท้า เท้า ข้อเท้า

    เบาหวานลงเท้ารักษาอย่างไร

    หากผู้ป่วยสังเกตพบความผิดปกติของเท้า การรีบไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาตั้งเเต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยลดความรุนเเรงเเละช่วยลดความเสี่ยงในการต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยคุณหมอเเละคุณพยาบาลอาจมีเเนวทางในรักษาอาการเบาหวานลงเท้าเบื้องต้นดังวิธีต่อไปนี้

  • ทำความสะอาดแผล
  • ระบายหนองหรือของเหลวออกจากแผล
  • ตัดเนื้อตายที่ขาดเลือดและสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในแผล (Wound debridement)
  • ใช้ผ้าพันแผลหรือผลิตภัณฑ์สำหรับทำเเผลเพื่อดูดซับของเหลว ไม่ว่าจะเป็น น้ำเหลือง เลือด หรือ หนอง เพื่อช่วยให้เเผลไม่อับชื้นและช่วยให้เเผลฟื้นตัวเร็วขึ้น
  • ให้ผู้ป่วยใช้รถเข็นหรือไม้ค้ำยันเพื่อผ่อนการลงน้ำหนักที่เท้า
  • ในกรณีที่แผลติดเชื้อหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จะมีการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทั้งชนิดรับประทานหรือแบบฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อ
  • วิธีป้องกันเบาหวานลงเท้า

    วิธีป้องกันเบาหวานลงเท้า ที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถทำได้เบื้องต้น มีดังนี้

  • ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมเเละหมั่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ รับประทานยารักษาเบาหวานรวมถึงดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของคุณหมออยู่เสมอ
  • สังเกตุเเละตรวจสุขภาพเท้าทั้ง 2 ข้างเป็นประจำทุกวัน
  • ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำอุ่นเพราะอาจทำให้ผิวหนังพองหรือเป็นเเผลได้ หลังจากนั้นควรซับน้ำที่บริเวณเท้าและซอกนิ้วเท้าให้แห้งด้วยผ้าสะอาด มิให้อับชื้น
  • ทาโลชั่นหรือมอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำทุกวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันมิให้เท้าแห้งแตก จนอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิว หรือติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการทาโลชั่นที่บริเวณซอกนิ้ว
  • มีการปรับท่าทางเเละอิริยาบทในท่าที่เหมาะสมเพื่อให้มีเลือดไหลเวียนไปที่ขาตลอด เช่น สลับยกเท้าขึ้นขณะนั่ง ไม่นั่งห้อยเท้าเป็นเวลานาน ขยับ/กระดิกนิ้วเท้าบ่อย ๆ ใช้หมอนรองหนุนปลายเท้าหรือใต้หัวเข่าขณะนอน หากนั่งเป็นเวลานาน ๆ ควรสลับลุกเดินหรือเปลี่ยนท่า
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า เเม้จะอยู่ภายในอาคาร ควรสวมรองเท้าแตะ/รองเท้า หรือ ถุงเท้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะเพื่อป้องกันการเกิดบาดเเผลเล็กๆน้อยๆ ที่เท้า จากอุบัติเหตุที่ไม่ทันได้ระวัง
  • สวมถุงเท้าก่อนสวมรองเท้าเสมอ เพื่อป้องกันมีให้เกิดการเสียดสีหรือระคายเคืองซึ่งอาจทำให้เกิดบาดเเผลที่เท้าได้
  • เลือกรองเท้าที่ขนาดพอดีกับเท้า ไม่หลวมหรือคับแน่นเกินไป และ หลีกเลี่ยงรองเท้าที่ภายในมีตะเข็บ ขอบแหลมคม หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดการเสียดสีหรือเเผลกดทับที่เท้า
  • หากมีปัญหาสุขภาพเท้า ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่ทำให้เกิดแรงกระแทกหรือลงน้ำหนักที่บริเวณเท้ามาก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ ไทเก๊ก หรืออาจปรึกษาคุณหมอถึงเเนวทางการออกกำลังกายที่เหมาะกับภาวะสุขภาพของตน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา