Microalbuminuria คือ ภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย หรือภาวะที่ร่างกายมีโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) รั่วออกมาทางปัสสาวะในปริมาณระหว่าง 30-300 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นภาวะที่บ่งชี้ถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติไป เป็นสัญญานเริ่มต้นของภาวะไตเสื่อม ภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียที่พบในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้กลุ่มหลอดเลือดฝอยของไตที่ทำหน้าที่เก็บกรองสารต่าง ๆ เสียหาย จึงเป็นสาเหตุให้โปรตีนอัลบูมินรั่วออกมาทางปัสสาวะมากกว่าปกติ
[embed-health-tool-bmi]
Microalbuminuria คือ
ไมโครอัลบูมินนูเรีย หมายถึง ภาวะที่มีโปรตีนอัลบูมิน (หรืออาจรู้จักทั่วไปว่า โปรตีน ไข่ขาว) ในปัสสาวะอยู่ระหว่าง 30-300 มิลลิกรัมต่อระยะเวลา 1 วัน หรือ มีปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ 30-300 มิลลิกรัมต่อกรัมของครีเอตินีน ซึ่งสะท้อนว่าอาจมีภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ และเป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของโรคไต
ทั้งนี้ อัลบูมินเป็นโปรตีนที่สร้างจากตับ และพบได้ในกระแสเลือด มีหน้าที่เป็นตัวขนส่งฮอร์โมน วิตามิน หรือเอนไซม์ ไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือด รวมถึงช่วยป้องกันของเหลวในหลอดเลือดรั่วซึมออกมา แล้วไปสะสมที่เนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
Microalbuminuria เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร
เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ลดลงหรือร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เซลล์ต่าง ๆ ตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่เหมาะสม
หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน หลอดเลือดของอวัยวะต่างๆของร่างกายจะได้รับความเสียหาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวตามมาได้
ในกรณีของไต ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างเรื้อรังจะไปทำลายโกลเมอรูลัส (Glomerulus) หรือกกบุ่มหลอดเลือดฝอยของไต ซึ่งทำหน้าที่เก็บกรองสารสำคัญต่าง ๆ จากกระแสเลือดและขับของเสียออกทางปัสสาวะ
เมื่อโกลเมอรูลัสได้รับความเสียหาย ประสิทธิภาพของไตในการเก็บกรองสารลดลง จึงทำให้มีโปรตีนอัลบูมินที่ควรถูกกรองเก็บกลับเข้าสู่กระเเสเลือด ถูกขับออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ อีกทั้งเมื่อไตมีการทำงานผิดปกติไป อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยซึ่งจะส่งผลให้ไตเสียหายยิ่งกว่าเดิม และเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้ในท้ายที่สุด
Microalbuminuria ตรวจอย่างไร
การตรวจภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีวิธีการตรวจ ดังนี้
- การสุ่มตรวจปัสสาวะในเวลาใดเวลาหนึ่ง
- การตรวจปัสสาวะทั้งหมดตลอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมง (ต้องให้ผู้ป่วยเก็บปั้สสาวะใส่ภาชนะมาจากบ้าน)
สำหรับผลตรวจภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย ค่าที่ได้มีเกณฑ์ในการวัดผลดังต่อไปนี้
- อัลบูมินในปัสสาวะน้อยกว่า 30 มิลลิกรัม หมายถึง ไตทำงานปกติ
- อัลบูมินในปัสสาวะอยู่ระหว่าง 30-300 มิลลิกรัม หมายถึง มีภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย ซึ่งแสดงถึงไตเริ่มมีการทำงานที่ผิดปกติ
- อัลบูมินในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัม หมายถึง มีภาวะเเมคโครอัลบูมินนูเรีย ซึ่งเเสดงถึงไตมีการทำงานที่ผิดปกติมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยมักมีค่าการทำงานของไตลดลงร่วมด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้อัลบูมินในปัสสาวะอยู่ในระดับสูง ได้แก่ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
- มีไข้
- หลังการออกกำลังกายอย่างหนัก
- ภาวะร่างกายขาดน้ำ
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
Microalbuminuria รักษาอย่างไร
เมื่อพบว่ามีภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย คุณหมอมักแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี โดยสามารถดูแลตนเองได้ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก และยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสเค็ม และ อาหารสำเร็จรูป เพราะเกลือโซเดียมในอาหารที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายมีภาวะคั่งน้ำ และทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น
- หากมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย คุณหมออาจเลือกยาลดความดันโลหิต กลุ่ม เอซอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) หรือ กลุ่ม เออาร์บี (ARB) ซึ่งสามารถช่วยลดโปรตีนอัลบูมินที่รั่วในปัสสาวะ รวมถึงชะลอความเสื่อมของไตได้