backup og meta

ลดน้ําตาลในเลือด และวิธีดูแลตัวเองป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    ลดน้ําตาลในเลือด และวิธีดูแลตัวเองป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง

    การ ลดน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน คือ ระดับน้ำตาลก่อนมื้ออาหารควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่รุนแรงได้

    ลดน้ำตาลในเลือด มีประโยชน์อย่างไร

    การลดน้ำตาลในเลือดและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมในผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวานจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะก่อนเบาหวาน รวมไปถึงโรคเบาหวานได้ ส่วนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีในผู้ที่เป็นเบาหวาน จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากโรคเบาหวาน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis) และภาวะเลือดข้นจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก (Diabetic Hyperosmolar Syndrome) อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรังที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังต่อไปนี้

    • ภาวะปลายประสาทเสื่อม
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตา
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
  • ภาวะไตวายเรื้อรัง
  • วิธีลดน้ำตาลในเลือด

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจทำได้ดังนี้

    ยาฉีดอินซูลิน

    ยาฉีดอินซูลินเป็นอินซูลินสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เสมือนฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน จึงสามารถช่วยลดน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ โดยอินซูลินมีหลายชนิด อาจแบ่งตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้ ดังนี้

    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาทีหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 3-5 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 5-15 นาที มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารในแต่ละมื้อ และมักใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นหรือปกติ (Regular or Short-acting Insulin) ออกฤทธิ์เต็มที่หลังฉีดประมาณ 30 นาที และออกฤทธิ์นาน 5-8 ชั่วโมง ควรฉีดยาก่อนมื้ออาหาร 30 นาที มักใช้เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารในแต่ละมื้อเช่นเดียวกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) ออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นาน 10-18 ชั่วโมง อาจใช้วันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย และมักใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น
    • อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนาน 24 ชั่วโมง จึงควรใช้วันละครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วหรือสั้น
    • อินซูลินแบบผสม (Premixed Insulin) เป็นอินซูลินที่ผสมระหว่างอินซูลิน 2 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นการผสมระหว่างอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วหรือสั้นกับอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยจะฉีดวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อเช้าและเย็น ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ และควบคุมระดับน้ำตาลโดยรวมของร่างกายได้

    ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน

    ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดรับประทานในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลผ่านกลไกที่ต่างกันออกไป เช่น ยาที่กระตุ้นการผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ได้แก่ ยากลุ่มที่ยับยั้งดีพีพี-4 (Dipeptidyl-Peptidase 4 Inhibitor) และยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ยาที่ช่วยให้เซลล์ในร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้มากขึ้น ได้แก่ ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) และยาไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone) ทั้งยังมียาที่ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ได้แก่ ยากลุ่มที่ยับยัง SGLT2 (SGLT2 inhibitor) โดยคุณหมอจะเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพและโรคร่วมของผู้ป่วยด้วย เพื่อช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ดีที่สุด

    การดูแลตัวเอง

    การดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ปรับการรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพิ่มการออกกำลังกายร่วมกับการรักษาด้วยยาลดระดับน้ำตาลหรือในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน สำหรับการเลือกชนิดอาหาร ควรรับประทานอาหารให้หลายหลาย ครบ 5 หมู่ เน้นกลุ่มผัก ผลไม้ดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืช และไขมันดี เช่น อะโวคาโด ปลาแซลมอน ปลาทู มะเขือเทศ แตงกวา ผักคะน้า บรอกโคลี แครอท ส้ม สตรอว์เบอร์รี อย่างไรก็ตาม ผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ขนุน มะละกอ มะม่วงสุก มีดัชนีน้ำตาลสูง หากรับประทานในปริมาณมากอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงมากจนเกินไปได้ จึงควรวางแผนการรับประทานอาหารให้เหมาะสม

    นอกจากนี้ คุณหมอมักแนะนำให้ออกกำลังกายในรูปแบบและระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมกับสุขภาพร่วมด้วย เพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาล เพิ่มความไวต่ออินซูลิน และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมีประสิทธิภาพ

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีไขมันไม่ดีต่ำและมีไขมันดีสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน กะหล่ำ มะเขือเทศ มะเขือม่วง ผักคะน้า ถั่วลันเตา อะโวคาโด ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน
    • งดหรือลดการรับประทานอาหารประเภทแป้งขัดขาว น้ำตาล อาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ขนมหวาน มันฝรั่ง ข้าวโพด น้ำมันหมู เนย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาล
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ เดินเร็ว วิ่งบนลู่วิ่ง กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก คาร์ดิโอ รวมไปถึงการทำงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาล ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะหากร่างกายขาดน้ำจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำและเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา