backup og meta

สมุนไพรลดเบาหวาน มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

สมุนไพรลดเบาหวาน มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

โดยปกติแล้ว การรักษาเบาหวานทำได้ด้วยการรับประทานยาตามคำสั่งของคุณหมออย่างเคร่งครัด และดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากการใช้ยารักษาแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจใช้ สมุนไพรลดเบาหวาน เป็นอาหารเสริม เพื่อช่วยลดระกับน้ำตาลในเลือด รวมถึงช่วยควบคุมภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคไต ระบบประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานสมุนไพรลดเบาหวานทุกชนิด ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ เนื่องจากสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อฤทธิ์ของยาเบาหวานได้

[embed-health-tool-bmr]

เบาหวาน เกิดจากอะไร

เบาหวาน คือ โรคเรื้อรังที่จะวินิจฉัยเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ซึ่งเป็นผลจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากปล่อยไว้นานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคไต ระบบประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับชนิดของเบาหวาน อาจแบ่งได้ ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง ทำให้ตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นำไปสู่ภาวะน้ำตาลสะสมในเลือดสูงขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย
  • เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย และน้ำหนักลดได้
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภส่งผลให้ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายไปเองหลังจากคลอดลูก แต่คุณแม่หลังคลอดบางรายก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาในภายหลัง

สมุนไพรลดเบาหวาน มีอะไรบ้าง

สำหรับ สมุนไพรลดเบาหวาน อาจมีดังนี้

ขิง

เป็นสมุนไพรที่มักนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและสารแต่งกลิ่นในอาหาร มีสรรพคุณในการรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ นอกจากนี้ ขิงยังอาจมีสรรพคุณช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine (Baltimore) เมื่อ พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับขิงเป็นอาหารสำหรับการรักษาแบบดั้งเดิมในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า ขิงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโดยเฉพาะในระยะยาวได้ ทั้งยังช่วยปรับปรุงค่าฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C หรือ HbA1c) นอกจากนี้ ขิงยังมีฤทธิ์ในการป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น จอประสาทตาขนาดเล็ก ทั้งยังช่วยป้องกันตับ ไต และภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทในผู้ป่วยเบาหวานที่ 2 ได้อีกด้วย

อบเชย

เป็นเครื่องเทศที่อาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลิน ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อ พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับอบเชยเป็นแนวทางการรักษาเสริมสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและการควบคุมภาวะไขมันในเลือดผิดปกติในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และกลไกการออกฤทธิ์ระดับโมเลกุล พบว่า อบเชยอาจมีประโยชน์ต่อเบาหวานชนิดที่ 2 ในการช่วยปรับปรุงตัวบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือด ช่วยกระตุ้นการควบคุมการเผาผลาญกลูโคสในเนื้อเยื่อ ทั้งยังช่วยลดคอเลสเตอรอลและการดูดซึมกรดไขมันในลำไส้ได้อีกด้วย

กระเทียม

เป็นหนุ่งในสมุนไพรที่มีประโยชน์หลากหลาย และมักใช้เป็นยาต้านลิ่มเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food & Nutrition Research เมื่อ พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับผลของการเสริมกระเทียมในการจัดการเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า กระเทียมช่วยปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังมีส่วนช่วยให้ภาวะดื้ออินซูลินลดลง นอกจากนี้ กระเทียมยังมีผลต่อการปรับปรุงคอลเลสเตอรอลรวม ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ กระเทียมยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อีกด้วย

แปะก๊วย

เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีส่วนช่วยปรับปรุงการไหลเวียนโลหิต และอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร University of Cincinnati เมื่อ พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับแปะก๊วยอาจช่วยในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า สารสกัดจากใบแปะก๊วยมีผลดีต่อเบต้าเซลล์ของแลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans)  ซึ่งเป็นเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ในการหลั่งอินซูลิน ทั้งยังช่วยลดระกับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ว่านหางจระเข้

เป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบในร่างกายที่มีส่วนทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน และยังอาจช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อยได้อีกด้วย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Food Science and Technology เมื่อ พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและฤทธิ์ลดไขมันของว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังช่วยปรับปรุงระดับไขมันในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่พึ่งอินซูลินอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การรับประทานสมุนไพรลดเบาหวาน ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละคน

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวาน

การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมออาจช่วยควบคุมเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย ซึ่งวิธีการดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวานอาจทำได้ ดังนี้

  • การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และปรับระบบอาหารให้เหมาะสมด้วยการลดปริมาณอาหารหวาน และเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในอาหาร
  • การออกกำลังกาย เป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับเบาหวาน เช่น โรคไต ระบบประสาทเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง
  • การดูแลร่างกายอย่างเหมาะสม เพื่อควบคุมโเบาหวาน รวมถึงการทำความสะอาดเล็บและตัดเล็บให้สั้น การรักษาผิวหนังให้สะอาดและป้องกันการแตกหรือติดเชื้อ การใส่รองเท้าที่เหมาะสม รวมถึงการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ
  • การลดความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควรลดความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น การฝึกโยคะ การอ่านหนังสือ การนอนหลับพักผ่อน
  • การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และการทำงานของไต ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจต้องพบคุณหมอเพื่อให้การรักษาเพิ่มเติม
  • การติดตามการรักษา เพื่อตรวจสอบผลการรักษา และปรับปรุงการดูแลตัวเอง ในกรณีที่ได้รับยาเบาหวาน ควรรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด และปรึกษาคุณหมอหากมีปัญหาหรืออาการไม่ดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

8 Effective Herbs To Lower Blood Sugar Levels!. https://pharmeasy.in/blog/8-effective-herbs-to-lower-blood-sugar/. Accessed April 10, 2023

Medicinal Plants and Herbs for Diabetes. https://diabetesaction.org/medicinal-plants-and-herbs. Accessed April 10, 2023

The most useful medicinal herbs to treat diabetes. http://bmrat.org/index.php/BMRAT/article/view/463. Accessed April 10, 2023

Herbal Medicine: Biomolecular and Clinical Aspects. 2nd edition. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK92755/. Accessed April 10, 2023

Herbal and Natural Therapies. https://www.diabetes.co.uk/Diabetes-herbal.html. Accessed April 10, 2023

10 Natural Home Remedies for Type 2 Diabetes. https://www.stamfordhealth.org/healthflash-blog/integrative-medicine/type-2-diabetes-natural-remedies/. Accessed April 10, 2023

Dietary ginger as a traditional therapy for blood sugar control in patients with type 2 diabetes mellitus. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6455977/. Accessed April 10, 2023

Cinnamon as a Complementary Therapeutic Approach for Dysglycemia and Dyslipidemia Control in Type 2 Diabetes Mellitus and Its Molecular Mechanism of Action: A Review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35807953/#:~:text=Clinical%20trials%20clarified%20that%20cinnamon,effect%20and%20enzyme%20activity%20improvement. Accessed April 10, 2023

Effect of garlic supplement in the management of type 2 diabetes mellitus (T2DM): a meta-analysis of randomized controlled trials. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5642189/. Accessed April 10, 2023

Ginkgo biloba may aid in treating type 2 diabetes. https://www.sciencedaily.com/releases/2019/08/190822124838.htm. Accessed April 10, 2023

Hypoglycemic and hypolipidemic effect of Aloe vera L. in non-insulin dependent diabetics. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3857397/#:~:text=Aloe%20vera%20lowers%20blood%20glucose,in%20lowering%20high%20blood%20pressure. Accessed April 10, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/05/2023

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เบาหวาน มีอะไรบ้าง และข้อควรระวัง 

เบาหวานกินอะไรได้บ้าง และอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 12/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา