โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยที่อินซูลินหน้าที่หลักควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม และหากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง สูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป อาการแสดงของโรคเบาหวาน อาจแตกต่างกันในเเต่ละราย อาการที่อาจพบได้ เช่น คือ กระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
โรคเบาหวาน เกิดจากอะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ตับอ่อนเบต้าเซลล์ (Beta cells) ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวาน
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานด้วยระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือเสี่ยงเกิดเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอยู่ระหว่าง 100 – 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรืออยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมีค่าตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน โดยทั่วไป อาจมีดังนี้
- เวียนศีรษะ ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย
- สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่คมชัด
- ชาปลายมือและปลายเท้า
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- บาดแผลหายช้ากว่าปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คอแห้ง รู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืน
- ความอยากอาหารมากขึ้น หิวบ่อย
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีผื่นสีคล้ำบริเวณรอยพับของร่างกาย เช่น หลังคอ รักแร้ อาจเรียกผื่นชนิดนี้ว่า ผิวหนังช้าง
- ติดเชื้อราในช่องปาก (Oral thrush) โดยสังเกตจากคราบปื้นขาวที่ลิ้น
- ผิวแห้ง รวมไปถึง ผื่นจากติดเชื้อที่ผิวหนัง
- ติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections หรือ UTIs)
อาการเบาหวานที่พบเฉพาะในผู้หญิง
- ติดเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)
- คันช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดจากช่องคลอดอักเสบติดเชื้อ
อาการเบาหวานที่พบเฉพาะในผู้ชาย
- มีอาการคันหรือมีเชื้อราที่ปลายอวัยวะเพศ
- มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากหลอดเลือดและเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานบกพร่องไป
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน สามารถทำได้ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โรคอ้วนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน จึงควรควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม อาจเริ่มต้นด้วยการปรับเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดรับประทานขนมจุบจิบระหว่างวัน ขยับร่างกายบ่อย ๆ เเละออกกำลังกายมากขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผักปวยเล้ง ใบโหระพา ยอดอ่อนฟักทอง ดอกกะหล่ำ ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ ซึ่งจะช่วยให้อิ่มนาน และอาจช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลินให้ดีขึ้น แนะนำเป็นการออกกำลังกายในระดับเหนื่อยปานกลาง เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แอโรบิกในน้ำ เล่นเทนนิส อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ อาจแบ่งเป็น 30 นาที/วัน และอาจสลับกับเพิ่มออกกำลังกายที่บริหารกล้ามเนื้อหลักของร่างกายด้วย อย่างน้อย 2 วัน/สัปดาห์