อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่ผลิตโดยตับอ่อน มีหน้าที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินที่ส่งผลให้ไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้
[embed-health-tool-bmi]
อินซูลิน คืออะไร
อินซูลิน คือ ฮอร์โมนที่ตับอ่อนผลิตขึ้น มีหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสในเลือด ที่ได้จากการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและแป้ง ส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์และลดระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือมีภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นภาวะที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินเพียงพอแต่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน อาจจำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนอินซูลินหรือรับประทานยา เพื่อช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินและกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลิน
ความสำคัญของอินซูลิน คืออะไรบ้าง
ร่างกายต้องการอินซูลิน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพราะหากร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอหรือไม่สามารถใช้อินซูลินเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้เพียงพอ อาจทำให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากโรคเบาหวาน เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท มือชาเท้าชา ไตวาย ตาพร่ามัว รวมไปถึงภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) ที่เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินที่ช่วยนำน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานจึงทำให้เผาผลาญไขมันเป็นพลังงานทดแทน ส่งผลให้ร่างกายสร้างคีโตน (Ketones) ปริมาณมากขึ้น ที่ทำให้เลือดเป็นกรดส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ก็อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้เช่นเดียวกัน
วิธีเพิ่มอินซูลินในร่างกาย
วิธีเพิ่มอินซูลินในร่างกายอาจทำได้ด้วยวิธีธรรมชาติและวิธีทางการแพทย์ ดังนี้
การเพิ่มอินซูลินด้วยวิธีธรรมชาติ
- ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตอินซูลิน และช่วยเพิ่มความไวอินซูลิน ทำให้อินซูลินสามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้ดีขึ้น และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ สำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด ควรออกกำลังกายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการออกกำลังกายรูปแบบแอโรบิค 3 ครั้ง/สัปดาห์
- พักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยเพิ่มความไวอินซูลิน โดยปกติแล้วควรนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน
- ควบคุมอาหารและรับประทานอาหารทีดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์แบบละลายน้ำ และไขมันดีสูง เช่น ข้าวโอ๊ต งาดำ ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดทานตะวัน ปลาแซลมอน เนื่องจากอาจช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูง นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม โอเมก้า 3 และโพรไบโอติกส์ ที่อาจช่วยเพิ่มความไวอินซูลินและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจนำไปสู่โรคเบาหวาน
การเพิ่มอินซูลินด้วยวิธีทางการแพทย์
1. การฉีดอินซูลิน
การฉีดอินซูลินอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อีกทั้งยังอาจช่วยกักเก็บกลูโคสส่วนเกินไว้ในตับในรูปแบบไกลโคเจน (Glycogen) เมื่อระดับอินซูลินต่ำ ตับจะปล่อยไกลโคเจนในรูปแบบน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน โดยปกติแล้วอินซูลินแบบฉีดมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วเป็นพิเศษ (Ultra rapid acting insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-15 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดในช่วง 30-60 นาที และออกฤทธิ์ได้นาน 4 ชั่วโมง มักใช้ในระหว่างรับประทานอาหาร และสามารถใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นานได้
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดใน 1 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 2-4 ชั่วโมง มักใช้หลังจากรับประทานอาหาร และสามารถใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์นานได้
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 2-3 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 3-6 ชั่วโมง มักใช้ก่อนรับประทานอาหาร 30-60 นาที
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นานปานกลาง (Intermediate-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมง ออกฤทธิ์สูงสุดระหว่าง 4-12 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 12-18 ชั่วโมง ควรใช้วันละ 1-2 ครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วและนาน
- อินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-Acting Insulin) จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ได้นาน 24 ชั่วโมง ควรใช้วันละ 1 ครั้ง มักใช้ร่วมกับอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็วและนาน
2. ยารับประทาน
- สารยับยั้งดีพีพี-4 (Dipeptidyl-peptidase 4 inhibitor) คือ ยาในรูปแบบรับประทานที่อาจช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลิน และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยรับประทานวันละ 1 ครั้ง
- ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น ไกลบิวไรด์ (Glyburide) ไกลิพิไซด์ (Glipizide) ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินที่นำไปสู่การลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดรับน้ำตาลในเลือดด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย