backup og meta

Glucose ค่าปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และมีวิธีการควบคุม glucose อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    Glucose ค่าปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และมีวิธีการควบคุม glucose อย่างไร

    Glucose (กลูโคส) คือ น้ำตาลชนิดหนึ่งที่ร่างกายได้รับจาการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต หลังจากที่น้ำตาล ​Glucose ดูดซึมเข้าสู่กระเเสเลือด ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินออกมาเพื่อกระดตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน หากรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะทำให้มีสมดุลของระดับน้ำตาล Glucose ปกติ แต่หากออกกำลังกายน้อยและรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก ก็อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเเละเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้

    Glucose ค่าปกติ อยู่ที่เท่าไหร่

    ผุ้ที่มีสุขภาพเเข็งเเรง หากตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังอดอาหารมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะไม่สูงกว่า 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อย่างไรก็ตาม ค่าน้ำตาลกลูโคสในเลือดจะเปลี่ยนเเปลงได้ตลอดเวลาขึ้นกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การออกเเรงหรือออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ดังนั้น จึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อสังเกตว่าค่าน้ำตาลในเลือดว่าเกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ ดังนี้

    • ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ในบุคคลทั่วไปหากมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหากมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเเล้ว
  • ค่าน้ำตาลในเลือดเกินเกณฑ์ จะมีค่าน้ำตาลในเลือด 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เมื่อตรวจหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เมื่อตรวจแบบไม่อดอาหารและตรวจน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม
  • การควบคุม Glucose ให้อยู่ในค่าปกติ สำคัญอย่างไร

    การควบคุม Glucose ให้อยู่ในค่าปกติ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะอาจช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

    • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดอาการเช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีเเรงการ มองเห็นเปลี่ยนแปลง ไม่มีสมาธิ หากปล่อยทิ้งไว้อาจรนแรงจนทำให้เกิดอาการชักและหมดสติ ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไม่ถูกวิธี การออกกำลังกายที่หักโหมกว่าปกติ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การอดอาหารหรือรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย มีปัญหาด้านการมองเห็น เหนื่อยล้า แผลหายช้า ปวดศีรษะ ปลายมือปลายเท้าชา ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของผู้ที่ปล่อยให้มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน เเละหากปล่อยทิ้งไว้อาจนำไปสู่ภาวะเเทรกซ้อนของโรคเบาหวานอื่นที่อันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น​โรคหัวใจ โรคไต
    • ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis: DKA) เป็นภาวะแทรกซ้อนฉับพลันที่อันตรายมาก พบในผู้ที่เป็นเบาหวานเเล้วไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ หรือ มีภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ติดเชื้อ อุบัติเหตุรุนเเรง ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด มักมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงานได้จึงเผาผลาญไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน ซึ่งในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดคีโตน (Ketones) ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อมีคีโตนสะสมมากขึ้น จึงทำให้เลือดเป็นกรดตามมา ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบการทำงานของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ล้มเหลว โคม่า และอาจถึงแก่ชีวิต

    วิธีการควบคุม Glucose ให้อยู่ในค่าปกติ

    วิธีการควบคุม Glucose ให้อยู่ในค่าปกติ อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และธัญพืช เช่น มะเขือเทศ พริกหยวก ผักใบเขียว ถั่ว ข้าวและขนมปังโฮลเกรน เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีไฟเบอร์สูงซึ่งอาจมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระเเสเลือด นอกจากนี้ เเนะนำให้เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น อะโวคาโด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน น้ำมันมะกอก เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและแป้งสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เค้ก โดนัท คุกกี้ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ ของทอด และอาหารแปรรูป เพราะอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารเหล่านี้เพิ่มขึ้นในปริมาณที่จำกัดหรือตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อเพิ่ม Glucose ให้อยู่ในค่าปกติ
    • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น ทำงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ เต้นแอโรบิค เพราะอาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด
    • ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงควรรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด หรือใช้อินซูลินตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด หากสังเกตว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปหรือมีอาการแย่ลงควรแจ้งให้คุณหมอทราบอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษาให้เหมาะสม
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา