backup og meta

การตรวจค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด หรือ Hemoglobin A1C คือ อะไร สำคัญอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    การตรวจค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด หรือ Hemoglobin A1C คือ อะไร สำคัญอย่างไร

    Hemoglobin A1C คือ การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในกระแสเลือด หรือที่เรียกว่าการตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (HbA1c) ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอทราบถึงการควบคุมระดับน้ำตาลโดยรวมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถใช้ในการคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน การวินิจฉัยโรคเบาหวาน และช่วยให้คุทราบถึงประสิทธิภาพของแผนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทั้งการปรับพฤติกรรมสุขภาพและการใช้ยาในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับการรักษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

    Hemoglobin A1C คือ อะไร

    การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือ Hemoglobin A1C หรือ น้ำตาลสะสม เป็น การตรวจที่สามารถบอกถึงค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถตรวจได้โดยไม่ต้องอดอาหารมาก่อนล่วงหน้า ตามปกติแล้ว น้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในกระแสเลือดจะจับกับฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์เม็ดเลือดแดง และจะคงอยู่จนกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงจะหมดอายุขัย (ประมาณ 100-120 วัน)

    ดังนั้น หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ร่างกายเผาผลาญได้ไม่หมด ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะมีน้ำตาลไปจับกับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น และยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นเท่าไหร่ หรือ บ่อยครั้งขึ้น ก็จะส่งผลให้มีน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบินเพิ่มงมากขึ้นตามไปด้วย

    ผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปีหรือมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C เพื่อคัดกรองโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจ Hemoglobin A1C อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อประเมินความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ความถี่ในการตรวจ Hemoglobin A1C ของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น

    • ชนิดของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ควรได้รับการตรวจHemoglobin A1C  3-4 ครั้ง/ปี แต่ในผู้ที่เป็นภาวะก่อนเบาหวาน อาจเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C ปีละ 1-2 ครั้ง 
    • ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี คุณหมออาจพิจาณาตรวจ Hemoglobin A1C ห่างขึ้น เพียง 2 ครั้ง/ปี
    • แผนการรักษาโรคเบาหวาน หากมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษา เช่น ชนิดของยาเบาหวาน พฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย อาจมีการตรวจติดตามระดับ Hemoglobin A1C บ่อยขึ้น เพื่อช่วยประเมินการรักษา

    เมื่อไหร่ที่ควรรับการตรวจ Hemoglobin a1c

    ทางการแพทย์อาจเเนะนำให้เข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C ในกรณีต่อไปนี้

    • การคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
    • การคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2
    • การตรวจติดตามการรักษา เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะบ่งบอกถึงการควบคุมระดับน้ำตาลโดยรวมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

    เกณฑ์ของ Hemoglobin A1C มีอะไรบ้าง

    ระดับ Hemoglobin A1C สามารถแปลผลได้ดังต่อไปนี้

    • ระดับ A1C น้อยกว่า 5.7 mg% หมายถึง ระดับน้ำตาลสะสมปกติ
    • ระดับ A1C ตั้งแต่ 5.7-6.4 mg% หมายถึง ระดับน้ำตาลสะสมเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน
    • ระดับ A1C ตั้งแต่ 6.5 mg% ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน

    น้ำตาลสะสมในเลือด ไม่ควรเกินเท่าไหร่

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลสะสมไม่ควรเกิน 5.7 mg% และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยทั่วไปแล้ว ระดับน้ำตาลสะสมเป้าหมาย ( A1C target levels) ควรน้อยกว่า 7% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

    สำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ คุณหมออาจกำหนดระดับน้ำตาลสะสมเป้าหมายไว้สูงกว่า 7% ได้ เพื่อให้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินของโรคเบาหวาน

    • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่ยืนยาวนัก (Limited life expectancy) เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
    • ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) บ่อย ๆ  หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่รู้ตัว (Hypoglycemia unawareness)
    • ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด 
    • ผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ผู้ป่วยติดเตียงที่อาจช่วยเหลือตนเองไม่ได้เต็มที่

    นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเบาหวาน (ผู้หญิง) วางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรจะควบคุมระดับ Hemoglobin A1C ให้ไม่เกิน 6.5 mg% ก่อนการตั้งครรภ์ และ หากทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว จะต้องมีการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น คือ ระดับ Hemoglobin A1C ควรน้อยกว่า 6 mg% ตลอดการตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งกับทารกในครรภ์และตัวมารดาเอง

    นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับ Hemoglobin A1C สูงเป็นเวลานานหลายปี อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เช่น

    • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy) หรือที่เรียกว่า โรคเบาหวานขึ้นตา
    • โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) 
    • โรคไต (Nephropathy)
    • โรคกระเพาะอาหารบีบตัวน้อยผิดปกติ (Gastroparesis หรือ GP)

    การต้องดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมระดับ Hemoglobin a1c ไม่ให้เกิน 7% จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยยังคงมีสุขภาพโดยรวมที่ดี และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ได้

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลสะสม HbA1c ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีควบคุมระดับน้ำตาลสะสมให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอาจทำได้ดังนี้

    • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารจำเป็นครบถ้วน สำหรับอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แนะนำให้เน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นหลัก เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชเต็มเมล็ด และรับประทานผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น แอปเปิล แก้วมังกร ส้ม สตรอว์เบอร์รี องุ่น แทนการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงอย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม เบเกอรี ของทอด แต่อย่างไรก็ตามควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเพื่อให้ทราบระดับน้ำตาลของตนในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลของตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงประสิทธิภาพยาที่คุณหมอให้อีกด้วย อย่างไรก็ตามมิควรปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาด้วยตัวเอง
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายแบบแอโรบิกความเหนือยระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 30 นาที/วัน สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกินได้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินอีกด้วย แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคร่วมบางประการ อาจปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเองมากที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา