LADA (Latent Autoimmune Diabetes in Adults) คือโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่เซลล์ในตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายอย่างช้า ๆ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วย LADA จะค่อย ๆ แย่ลงจนถึงขั้นที่เซลล์ในตับอ่อนถูกทำลายจนหมด และผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินทดแทนเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดเช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
LADA คืออะไร
LADA หรือ เบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง คือโรคเบาหวานชนิดหนึ่ง มีสาเหตุคล้ายกับเบาหวานชนิดที่ 1 คือ เบต้าเซลล์ (β-Cell) ของตับอ่อน ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลายจากภูมิซึ่งสร้างจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง จนทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน เเต่มักพบในวัยผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับในโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งต่างจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่สาเหตุเกิดจากภูมิในร่างกายไปทำลายตับอ่อนเช่นกัน เเต่มักเเสดงอาหารตั้งเเต่ในช่วยเด็กเเละวัยรุ่น ดังนั้นบางครั้งจึงอาจเรียก LADAว่า เบาหวานชนิดที่ 1.5
การที่ LADA มักพบในวัยผู้ใหญ่นั้นอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติทีละน้อย แล้วค่อย ๆ ทำลายเบตาเซลล์ในตับอ่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่องอย่างช้า ๆ จนกระทั่งน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เเละนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
อาการ
อาการของ LADA
เมื่อเป็นเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง จะมีอาการเช่นเดียวกับเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนี้
- กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะรดที่นอน
- หิวบ่อย อยากอาหารเป็นพิเศษ
- น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุ
- อ่อนเพลีย
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
- สายตาพร่ามัว
- ติดเชื้อง่าย
- ผิวแห้ง คัน
- มือเท้าชา
สาเหตุ
สาเหตุของ LADA
เบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากการที่แอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิต้านทานซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผลิตขึ้นมานั้นทำหน้าที่ผิดปกติ โดยตรวจจับเบตา เซลล์ว่าเป็นเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายทำให้ร่างกายต้องกำจัด ซึ่งความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพันธุกรรม โดยผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง
นอกจากนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน หรือการที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินผิดปกติ ส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่องเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ง่ายกว่าปกติ
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเอง
คุณหมอจะตรวจและวินิจฉัยเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จากตัวอย่างเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน
- ตรวจหาแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานที่ผลิตจากระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ผิดปกติจนทำลายเบตา เซลล์ โดยสามารถตรวจได้ด้วยการเจาะเลือด
การรักษา LADA
สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน LADA ระยะแรก ซึ่งเบตาเซลล์ยังถูกทำลายไม่มากนัก ทำให้ในร่างกายยังมีฮอร์โมนอินซูลินอยู่ในระดับหนึ่ง ในช่วงนี้คุณหมอจะจ่ายยาลดระดับน้ำตาลในเลือดเเบบรับประทาน
อย่างไรก็ตาม หากอาการของเบาหวานแพ้ภูมิตัวเองแย่ลง หรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้แล้ว คุณหมอจะรักษาด้วยการให้ฉีดอินซูลินสังเคราะห์ ซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
ทั้งนี้ อินซูลินมีหลายประเภทซึ่งจำแนกตามความเร็วในการออกฤทธิ์ อย่างอินซูลินออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) จะออกฤทธิ์ภายใน15 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย ส่วนอินซูลินออกฤทธิ์สั้น (Regular or Short-acting Insulin) จะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีดเข้าร่างกาย โดยคุณหมอจะพิจารณาประเภทของอินซูลินตามประวัติสุขภาพ เพศ วัย น้ำหนักตัว และอาการของผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งแตกต่างกันไป
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเมื่อเป็น LADA
ผู้ป่วยเบาหวาน LADA ควรดูแลตนเองให้ดีเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีคำเเนะนำเบื้องต้นดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน เช่น ผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาหารแคลอรี่ต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด และยังทำให้สุขภาพร่างกายโดยเเข็งเเรง น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- งดสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองเป็นประจำ เพื่อให้เเน่ใจว่าระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เเละหากมีค่าระดับน้ำตาลสูง หรือต่ำเกินไปบ่อยครั้ง ควรไปพบคุณหมอก่อนนัด เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Diabetes Reviews ปี พ.ศ. 2562 พบว่า ภาวะน้ำหนักเกิน การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการบริโภคของหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด เบาหวาน LADA ดังนั้น การดูแลตัวเองด้วยการควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นเบาหวาน LADA ได้