backup og meta

กระดูกพรุน (Osteoporosis)

กระดูกพรุน (Osteoporosis)

กระดูกพรุน ปัญหาสุขภาพกระดูกเสื่อมและบางลงเนื่องจากสูญเสียแคลเซียมในกระดูก ทำให้ความหนาแน่นในกระดูก หรือที่เรียกว่ามวลกระดูกลดลง เมื่อกระดูกเปราะ กระดูกบาง ก็มีโอกาสเกิดปัญหากระดูกแตก หัก หลังประสบอุบัติเหตุได้มากขึ้น

คำจำกัดความ

กระดูกพรุนคืออะไร

กระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคกระดูกชนิดหนึ่ง ที่กระดูกบางลง และสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก (มวลกระดูก) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กระดูกเปราะ บาง หรือมีโอกาสแตกหลังประสบอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยได้มากขึ้น ความสูงลดลงและมีอาการปวดหลัง โดยผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าคนกลุ่มอื่น โรคกระดูกพรุนสามารถทำให้เกิดภาวะกระดูกแตก หรือหัก พบได้บ่อยบริเวณ สะโพก ข้อมือ หรือกระดูกสันหลัง แต่ก็สามารถเกิดกับกระดูกบริเวณอื่นได้เช่นกัน โดยกระดูกที่แตกหักบางชิ้นอาจรักษาไม่หาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นที่สะโพก

กระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่มีอาการ และอาจไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดจนกว่ากระดูกจะมีการแตกหัก หลายคนคิดว่ากระดูกพรุนเป็นปัญหาสุขภาพที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในปัจจุบันเชื่อว่า กระดูกพรุนนั้นสามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นกระดูกพรุนอยู่แล้ว สามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกัน หรือชะลอการแพร่กระจายของกระดูกพรุน และลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกแตกหักในอนาคตได้

พบได้บ่อยเพียงใด

กระดูกพรุนส่งผลต่อผู้ชายและผู้หญิงได้ทุกเชื้อชาติ แต่ผู้หญิงผิวขาวและผู้หญิงเอเชีย โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุที่ผ่านวัยหมดประจำเดือนแล้ว มีความเสี่ยงมากที่สุด คุณสามารถจำกัดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุนได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนไม่มีอาการที่ชัดเจนในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อถึงเวลาจะแสดงอาการปวดหลังส่วนล่างและคอ ตัวงอ และความสูงค่อยๆ ลดลง ในกรณีอื่นๆ สัญญาณเตือนประการแรกคือการแตก หรือหักของกระดูกบริเวณต่างๆ เช่น ซี่โครง ข้อมือ หรือสะโพก รวมไปถึงกระดูกสันหลังบริเวณสันหลังอาจเสียหาย เช่น แบน ถูกกดทับ แตกหัก ซึ่งถือเป็นภาวะกระดูกแตกหักจากกระดูกพรุนที่พบได้มากที่สุด นอกจากนี้ หากสะโพกแตกสามารถทำให้เกิดความพิการที่มากที่สุด

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณผ่านวัยหมดประจำเดือนในระยะแรก อาจต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) ติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน อย่างไรก็ตาม ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของกระดูกพรุน

โดยปกติแล้ว การสร้างกระดูกจำเป็นต้องใช้แคลเซียมและฟอสเฟต หากร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อกระดูกได้

สาเหตุหลักของกระดูกพรุน ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (ฮอร์โมนเพศชาย) ลดลงในผู้ชาย

กระดูกมีการสร้างขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่องเป็นวัฎจักร โดยมีการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาและกระดูกเก่าถูกทำลายลง เมื่อคุณอายุยังน้อย ร่างกายจะสร้างกระดูกใหม่ได้เร็วกว่าทำลายกระดูกเก่า มวลกระดูกจึงเพิ่มขึ้น โดยคนส่วนใหญ่มีมวลกระดูกมากที่สุดในช่วงอายุ 20 ปีตอนต้น แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายกลับสร้างกระดูกใหม่ได้ช้ากว่าทำลายกระดูกเก่าที่มีอยู่ จึงสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว

ความเป็นไปได้ที่คุณจะเป็นกระดูกพรุนบางส่วน ขึ้นอยู่กับปริมาณมวลกระดูกที่คุณมีในวัยเด็ก ยิ่งคุณมีค่ามวลกระดูกสูงสุดมากเท่าใด คุณก็ยิ่งมีกระดูก “สะสมตัว’ และมีโอกาสน้อยที่จะเป็นกระดูกพรุนเมื่อมีอายุมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่

  • การมีน้ำหนักร่างกายน้อย
  • พฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น ไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่ออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
  • ใช้ยาบางชนิด
  • เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด
  • นอนติดเตียงหรือการไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

  • เพศ: ผู้หญิงเป็นกระดูกพรุนได้มากกว่าผู้ชาย
  • อายุ: ยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นกระดูกพรุนได้มากขึ้น
  • ขนาดร่างกาย: ผู้หญิงตัวเล็กและผอมมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ประวัติครอบครัว: กระดูกพรุนมีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดในครอบครัวได้ หากสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวเป็นกระดูกพรุนหรือกระดูกหัก ก็มีโอกาสมากขึ้นที่คุณจะมีภาวะดังกล่าวด้วย

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่

  • ฮอร์โมนเพศ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ต่ำจากการขาดการมีประจำเดือน หรือภาวะหมดประจำเดือน สามารถทำให้เกิดกระดูกพรุนในผู้หญิงได้ ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ต่ำสามารถทำให้เกิดกระดูกพรุนในผู้ชาย
  • โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia nervosa) ความผิดปกติในการรับประทานอาหารนี้ สามารถทำให้เกิดกระดูกพรุนได้
  • การรับประทานแคลเซียมและวิตามินดี อาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีต่ำ ทำให้คุณมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะมีการสูญเสียกระดูก
  • การใช้ยา ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกระดูกพรุน
  • ระดับการออกกำลังกาย การขาดการออกกำลังกาย หรือการนอนติดเตียงเป็นเวลานาน สามารถทำให้กระดูกอ่อนแอได้
  • การสูบบุหรี่ ส่งผลเสียต่อกระดูก หัวใจ และปอดอีกด้วย
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สามารถทำให้เกิดการสูญเสียกระดูก และกระดูกหักได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยกระดูกพรุน

การตรวจความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสุขภาพของกระดูก การตรวจวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ ผู้เข้ารับการตรวจต้องนอนลงบนโต๊ะที่ติดตั้งแผ่นวางในขณะที่เครื่องสแกนเคลื่อนผ่านเหนือร่างกาย โดยปกติแล้ว การตรวจกระดูกมักใช้ในการตรวจกระดูกบริเวณในสะโพก ข้อมือ และกระดูกสันหลัง

การรักษากระดูกพรุน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักได้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่

  • การออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นประจำ เช่น ยกน้ำหนัก ซึ่งการออกกำลังกายเป้นองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการป้องกันกระดูกพรุนและโปรแกรมการรักษา การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพกระดูกดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความแข็งแรง การประสานงานกัน และความสมดุลของกล้ามเนื้อ และทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรออกกำลังกายหักโหมเกินไปเพราะอาจทำให้กระดูกได้รับบาดเจ็บได้
  • การเลิกสูบบุหรี่
  • การจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นๆ ที่สำคัญหลากหลาย ในสัดส่วนที่สมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แคลเซียมและวิตามินดี เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกระดูกที่แข็งแรง
  • การได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ คือ อย่างน้อย 1200 มก./วัน ทั้งจากอาหารและอาหารเสริมแคลเซียม โดยคุณควรได้รับวิตามินดีควบคู่กับแคลเซียมด้วย คือ อย่างน้อย 800 หน่วยสากล/วัน เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้
  • การรักษามุ่งเน้นที่การชะลอ หรือการหยุดการสูญเสียกระดูก และมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหัก โดยการลดความเสี่ยงในการหกล้มให้น้อยที่สุด
  • ใช้ยาสำหรับป้องกันหรือรักษากระดูกพรุน ได้แก่ ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต  (bisphosphonates) เช่น ยาอาเล็นโดรเนต (alendronate) ยากลุ่ม estrogen agonists/antagonists, ยาแคลซิโทนิน (calcitonin) ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (parathyroid hormone) ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen therapy) ยาฮอร์โมน (hormone therapy)

โปรแกรมการรักษาที่ครอบคลุม เป็นการมุ่งเน้นโภชนาการที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการป้องกันการหกล้ม ที่อาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ แพทย์ที่ทำการรักษายังอาจสั่งยาชนิดหนึ่งที่เผยว่า สามารถลดหรือหยุดการสูญเสียกระดูก หรือสามารถสร้างกระดูกขึ้นใหม่ เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก และลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักได้

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการกระดูกพรุน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกระดูกพรุนได้

  • เข้ารับการตรวจตามการนัดหมายของแพทย์สำหรับการเฝ้าระวังอาการต่างๆ รวมทั้งภาวะสุขภาพของคุณอีกด้วย
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามใช้ยาที่แพทย์ไม่ได้สั่งหรือลืมใช้ยา
  • ปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูร่างกายสำหรับการออกกำลังกายเพื่อทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี ให้ปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ประกอบด้วยอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ปลา ถั่ว และผักสีเขียว
  • ไม่สูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสองหน่วยต่อวัน อาจลดการสร้างกระดูกได้ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มได้อีกด้วย
  • ป้องกันการหกล้ม ด้วยการสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ยโดยมีแผ่นรองฝ่าเท้ากันลื่น รวมถึงตรวจตราในบ้านเพื่อหาสายไฟฟ้า พรม และพื้นผิวที่ลื่นที่อาจทำให้คุณสะดุดหรือหกล้มได้ ควรเปิดไฟในบ้านให้สว่าง ติดตั้งราวจับทั้งภายในและภายนอกห้องน้ำ เป็นต้น

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ferri, Fred. Ferri’s Netter Patient Advisor. Philadelphia, PA: Saunders / Elsevier, 2012. Print edition. Page 213.

Porter, R. S., Kaplan, J. L., Homeier, B. P., & Albert, R. K. (2009). The Merck manual home health handbook. Whitehouse Station, NJ, Merck Research Laboratories. Print edition. Page 544.

Osteoporosis. http://www.niams.nih.gov/Health_Info/Bone/Osteoporosis/osteoporosis_hoh.asp. Accessed July 14, 2016

Osteoporosis. http://www.niams.nih.gov/Health_Info/Bone/Osteoporosis/overview.asp. Accessed July 14, 2016

Osteoporosis. http://www.niams.nih.gov/Health_Info/Bone/Osteoporosis/osteoporosis_ff.asp. Accessed July 14, 2016

Osteoporosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoporosis/basics/lifestyle-home-remedies/con-20019924. Accessed July 14, 2016

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/03/2021

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

การออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยกระดูกพรุน ออกอย่างไรให้แข็งแรงและปลอดภัย

ป้องกันโรคกระดูกพรุน ได้ง่าย ๆ แค่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 17/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา