การตรวจครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์แต่ละไตรมาส เป็นการตรวจคัดกรองโรค และตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่างๆ หรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทัน โดยในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์อาจมีการตรวจสุขภาพที่แตกต่างกันออกไปตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
ประโยชน์ของการตรวจครรภ์
การตรวจครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วยให้ทราบสุขภาพโดยรวมของคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมถึงตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่อาจถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก เช่น การตรวจหาพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย รวมไปถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ โรคเบาหวาน โรคซิฟิลิส (Syphilis) เพื่อรับการรักษาได้ทัน ก่อนจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น คลอดก่อนกำหนด พิการตั้งแต่กำเนิด หรือการเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า
การตรวจครรภ์ ในแต่ละไตรมาส
การตรวจครรภ์ แบ่งเป็น 3 ไตรมาส ดังนี้
การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
คุณหมออาจสอบถามประวัติครอบครัวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคประจำตัว ก่อนจะเริ่มตรวจครรภ์ด้วยการตรวจเหล่านี้
- การตรวจเลือด คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือดด้วยการเจาะเลือด เพื่อระบุกลุ่มเลือด และหาความเสี่ยงของการเป็นพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคหัดเยอรมัน โรคอีสุกอีใส ไวรัสตับอักเสบบี เอชไอวี ซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- การตรวจอุ้งเชิงกราน เป็นการตรวจคัดกรองปากมดลูก เพื่อหาความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด
- ตรวจปัสสาวะ คุณหมออาจเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อที่ไต โรคไตบางชนิด โรคเบาหวาน หรือการรั่วของโปรตีน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีสาเหตุจากภาวะความดันโลหิตสูง
- การตรวจชิ้นเนื้อรก (CVS) อาจตรวจหลังจากตั้งครรภ์ได้ 11 สัปดาห์ ในรายที่มีข้อบ่งชี้ โดยคุณหมออาจนำสายสวนเล็ก ๆ เข้าทางปากมดลูก หรือสอดเข็มขนาดเล็ก หรืออาจเก็บชิ้นเนื้อรกผ่านทางหน้าท้อง เพื่อเก็บเนื้อเยื่อจากรกนำมาตรวจหาโรคที่มีความข้อบกพร่องทางพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์
- การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา (Non-Invasive Prenatal Testing: NIPT) เป็นการตรวจโครโมโซมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ โดยอาจเริ่มตรวจเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ขึ้นไป
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง
คุณหมออาจให้ตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาน้ำตาล โปรตีน และสัญญาณของการติดเชื้อ นอกจากนี้ ยังอาจตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่
- อัลตราซาวด์ คุณหมออาจใช้วิธีอัลตราซาวด์เพื่อฉายให้เห็นภาพภายในมดลูก และทารกในครรภ์ซึ่งอาจทำให้ทราบว่าถึงภาวะต่าง ๆ เช่น ความสมบูรณ์ของโครงสร้างทารก ตำแหน่งการเกาะของรก ปริมาณน้ำคร่ำ การเจริญเติบโตของทารก การไหลเวียนเลือดไปยังทารก
- การเจาะน้ำคร่ำ คุณหมออาจเจาะน้ำคร่ำในรายที่มีข้อบ่งชี้ เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ระหว่าง 16-18 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของพันธุกรรม โดยสอดเข็มเข้าไปในถุงน้ำคร่ำผ่านช่องท้องและดูดน้ำคร่ำที่มีเซลล์ของทารกออกมา เพื่อทำการตรวจหาสารพันธุกรรม โดยมีอัตราเสี่ยงของการเเท้งบุตรประมาณ 0.5-1%
- ตรวจน้ำตาลในเลือด ปกติคุณหมอจะเริ่มตรวจเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ระหว่าง 24-28 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวมาก ขนาดใหญ่เกินไป นำไปสู่การคลอดบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงในการคลอดติดไหล่ โดยคุณหมอจะให้รับประทานน้ำตาลก่อนแล้วจึงตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการเจาะเลือด
- การตรวจความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา หรือเรียกว่าการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติของโครโมโชมบางคู่ โดยเป็นการเจาะเลือดหาสารชีวเคมีในมารดาเพื่อนำมาประเมินความเสี่ยงว่าโครโมโซมคู่ที่ 13 18 21 มีความผิดปกติหรือไม่ โดยสารชีวเคมีนั้นจะมี อัลฟาฟีโตโปรตีน ซึ่งผลิตโดยทารกในครรภ์ เป็นส่วนนึงของการตรวจ หากอยู่ในระดับผิดปกติอาจเป็นไปได้ว่าทารกมีท่อประสาทบกพร่องได้
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่สาม
คุณหมออาจตรวจครรภ์อย่างละเอียดมากขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงใกล้คลอด โดยเช็กการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ความดันโลหิต ก่อนจะเริ่มตรวจด้วยการทดสอบต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ ตรวจหาโปรตีน และน้ำตาล เพื่อเช็กสัญญาณการติดเชื้อ ภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคโลหิตจางที่อาจพบได้บ่อยในช่วงของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สาม
- อัลตราซาวด์ ช่วยให้คุณหมอทราบถึงน้ำหนักตัวของทารก การเคลื่อนไหว การหายใจ กล้ามเนื้อ ปริมาณน้ำคร่ำของทารก และตำแหน่งของรก
- ตรวจอุ้งเชิงกราน ในช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะตรวจอุ้งเชิงกรานเพื่อดูว่าปากมดลูกมีความพร้อมคลอดบุตรหรือไม่ รวมไปถึงขนาดของอุ้งเชิงกรานว่าเหมาะสมกับขนาดทารกหรือไม่ ซึ่งอาจเช็กเมื่อถึงวันกำหนดคลอด
- ตรวจหัวใจทารกในครรภ์ การตรวจหัวใจของทารกในครรภ์อาจทำในระหว่างตั้งครรภ์หลังจาก 20 สัปดาห์ และขณะคลอด โดยฟังเสียงหัวใจของทารกในทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ เพื่อติดตามอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ เพื่อระบุว่าหัวใจของทารกในครรภ์ทำงานผิดปกติหรือไม่
- ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ คุณหมอจะใช้หัวตรวจเพื่อติดตามเสียงหัวใจทารก ร่วมกับหัวตรวจที่ติดตามการหดรัดตัวของมดลูก โดยติดอยู่กับสายรัดหน้าท้องที่มีความยืดหยุ่นรัดหน้าท้องคุณแม่เอาไว้ เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจของทารกควบคู่ไปกับการทำงานของมดลูก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่อาจดูแลตัวเองและทารกระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ควรตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดจนกว่าจะถึงช่วงเวลาคลอด และแจ้งให้คุณหมอทราบทันที เมื่อสังเกตถึงอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้องรุนแรง เลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำใสไหลออกจากช่องคลอด ทารกไม่ดิ้นเลยหรือดิ้นน้อยในช่วงหลังของการตั้งครรภ์
- ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและอุดมไปด้วย กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน โคลีน วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินบี และโอเมก้า 3 เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการ และลดความเสี่ยงความบกพร่องของท่อประสาททารกในครรภ์
- ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ ป้องกันร่างกายขาดน้ำและท้องผูก
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ชีส ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกพิการแต่กำเนิด หรือคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยอาจปรับท่าทางการนอนที่สบายตัว คุณหมออาจแนะนำให้นอนหงายแต่ควรใช้หมอนรองหลัง ระหว่างขาและใต้ท้อง เพื่อลดแรงกดทับ หรืออาจนอนท่าตะแคงซ้ายเพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายระดับเบา เช่น การเดิน ว่ายน้ำ เล่นโยคะ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ในรายที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยป้องกันน้ำหนักเกิน บรรเทาอาการปวดหลัง ปรับปรุงการนอนหลับ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย เพราะอาจได้รับแรงกระแทกสูง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่กระทบต่อทารกในครรภ์
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารก ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง พัฒนาการและการเจริญเติบโตล่าช้า มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ พิการตั้งแต่กำเนิด และแท้งบุตร
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไอกรน คอตีบ และบาดทะยัก เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยรุนแรง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน