backup og meta

อาการครรภ์เป็นพิษ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

อาการครรภ์เป็นพิษ สาเหตุ วิธีรักษาและวิธีป้องกัน

อาการครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักพบได้ในช่วงหลังการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20 ขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โปรตีนในปัสสาวะสูง ส่งผลให้เท้า มือ และขาบวม นำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร โรคหัวใจและหลอดเลือด อวัยวะภายในเสียหาย ชัก และเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติ และตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษและรักษาได้ทันท่วงที

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

สาเหตุที่ทำให้เกิด อาการครรภ์เป็นพิษ

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้เกิดอาการครรภ์เป็นพิษ แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัย ที่ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนเลือดผิดปกติ นำไปสู่ความดันโลหิตสูง จนก่อให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus)
  • การตั้งครรภ์ท้องแรก
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • การตั้งครรภ์จากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ุ
  • คนในครอบครัวมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

ลักษณะอาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษ อาจสังเกตได้จากอาการ ดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องส่วนบน บริเวณใต้ซี่โครงขวา หรือจุกแน่นลิ้นปี่รุนแรง
  • ปวดเมื่อย
  • หายใจลำบาก หายใจไม่เต็มอิ่ม เพราะในปอดอาจมีของเหลวมาก
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว ตาพร่า ตาไวต่อแสง
  • ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม ใบหน้า แขน ขา หรือเท้าบวมขึ้น
  • การทำงานของตับบกพร่อง

หากมีอาการข้างต้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจสุขภาพทันที

การรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ

เมื่อมีอาการครรภ์เป็นพิษ โดยปกติคุณหมอมักจะแนะนำให้เร่งกำหนดการคลอดบุตร เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการชัก โรคหลอดเลือดสมอง ตกเลือดรุนแรง และช่วยลดความดันโลหิตลง อย่างไรก็ตาม คุณหมอจะพิจารณาจากอายุครรภ์และสุขภาพของทารก ส่วนใหญ่อาจให้คลอดเมื่อทารกมีอายุได้ 37 สัปดาห์ หรือช่วงใกล้ถึงวันกำหนดคลอดมากที่สุดเพื่อความปลอดภัย แต่หากครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง คุณหมออาจจำเป็นต้องให้คุณแม่คลอดบุตรทันที

นอกจากการคลอดบุตร คุณหมออาจรักษาอาการครรภ์เป็นพิษด้วยวิธีต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ดังนี้

  • ยาลดความดันโลหิต เพื่อช่วยลดความดันโลหิตหากมีค่าระดับความดันโลหิตมากกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท
  • ยากันชัก หากมีอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรง คุณหมออาจให้ยากันชัก เช่น แมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ คุณหมออาจให้ยากลุ่มนี้ต่อเมื่อคุณแม่อายุครรภ์ไม่เกิน 34 สัปดาห์ ร่วมกับมีภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง และกลุ่มอาการ HELLP ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ร่วมกับมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และตับทำงานผิดปกติ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจช่วยให้ปอดของทารกทำงานได้ดีขึ้น และทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสเจริญเติบโต เพื่อเตรียมพร้อมใช้ชีวิตอยู่โลกภายนอก เมื่อจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด

วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ แต่อาจมีวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยง ดังนี้

  • รับประทานอาหารเสริม เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินดี น้ำมันตับปลา กระเทียม กรดโฟลิก หรือควบคุมปริมาณเกลือในอาหาร ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าช่วยลดความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสูง อาจต้องรับประทานแอสไพรินในปริมาณไม่เกิน 81 มิลลิกรัม โดยเริ่มรับประทานหลังจากตั้งครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม อาหารไขมันสูง และของทอด และรับประทานอาหารประเภทโปรตีนให้มากขึ้น
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ปรับท่านอน โดยอาจนอนตะแคงซ้ายเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักของทารกกดทับหลอดเลือดใหญ่ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
  • หยุดสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอกำหนดเป็นประจำ เช่น อัลตราซาวด์ ตรวจเลือด ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ ตรวจความดันโลหิต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Preeclampsia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/preeclampsia/symptoms-causes/syc-20355745. Accessed March 10, 2022  

Preeclampsia. https://www.webmd.com/baby/preeclampsia-eclampsia. Accessed March 10, 2022  

Pre-eclampsia. https://www.nhs.uk/conditions/pre-eclampsia/. Accessed March 10, 2022   

Preeclampsia. https://medlineplus.gov/genetics/condition/preeclampsia/. Accessed March 10, 2022   

Preeclampsia and High Blood Pressure During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/preeclampsia-and-high-blood-pressure-during-pregnancy. Accessed March 10, 2022   

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

รกเกาะต่ำ ภาวะต้องระวังในหญิงตั้งครรภ์กับวิธีรักษา

ตรวจสุขภาพไตรมาส 2 ของแม่ตั้งครรภ์ ต้องตรวจอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา