backup og meta

แพ้ท้องแทนเมีย เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

แพ้ท้องแทนเมีย เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

แพ้ท้องแทนเมีย หมายถึง อาการที่ผู้ชายที่มีภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ มีอาการคล้ายกับอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย โดยที่ไม่มีอาการป่วยใด ๆ มาก่อน อาการแพ้ท้องแทนเมียมักเป็นอาการที่เกิดจากสภาพจิตใจ เนื่องจากความเครียดและความกังวลในช่วงที่กำลังปรับตัวก่อนที่จะเป็นพ่อคน ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลายความเครียด และอาจรับประทานอาหารที่ช่วยลดอาการพะอืดพะอม เช่น ขิง ร่วมด้วย

[embed-health-tool-due-date]

แพ้ท้องแทนเมีย เป็นอย่างไร

อาการแพ้ท้องแทนเมีย ใช้อธิบายถึงเหตุการณ์ที่ ผู้ชายที่มีสุขภาพดี และมีภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ แสดงอาการที่มีลักษณะคล้ายกับอาการแพ้ท้องที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะเป็น โดยอาการนี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถพบได้ทั่วไป ไม่จัดว่าเป็นอาการป่วย หรือโรคใดๆ

อาการที่อาจเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • แสบร้อนกลางอก
  • ปวดท้อง ปวดหลัง
  • ตะคริว
  • ท้องอืด
  • ปวดฟัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ
  • ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
  • ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง น้ำหนักขึ้น
  • นอนไม่หลับ
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • วิตกกังวล
  • ซึมเศร้า
  • กระสับกระส่าย

อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ประมาณเดือนที่สามของการตั้งครรภ์ และจะมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็มีโอกาสที่อาการอาจจะกลับมาในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะช่วงใกล้คลอด

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แพ้ท้องแทนเมีย

สำหรับสาเหตุของอาการแพ้ท้องแทนเมีย ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ท้องแทนเมีย อาจมีดังต่อไปนี้

อาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือภาวะโซมาติก (Somatic symptoms)

ภาวะโซมาติกนี้หมายถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายจริงๆ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาทางจิตใจ หรือความตึงเครียดทางอารมณ์ พ่อแม่มือใหม่นั้นมักจะเกิดความวิตกกังวลหรือเครียดกับการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ยินดีหรือความตื่นเต้นก็ตาม เพราะการเป็นพ่อคนแม่คนจะเท่ากับการเปลี่ยนบทบาทในสังคมครั้งใหญ่ของชีวิต และมักจะส่งผลให้เกิดความเครียดและความกังวล ไม่ว่าจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม ความรู้สึกเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการทางกายที่มีลักษณะคล้ายกับอาการแพ้ท้องได้ โดยผู้ชายบางส่วนมักจะมีอาการแพ้ท้องในช่วงที่กำลังพยายามปรับตัวและจัดการกับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ๆ ของการเป็นพ่อคน

ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง

ผู้ชายที่มีภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายได้ เช่น มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง (testosterone) และมีฮอร์โมนอีสตราไดออลเพิ่มขึ้น (estradiol) การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ท้องแทนเมียขึ้นมาได้

ความรู้สึกผูกพัน

ผู้ชายที่มีส่วนร่วมในการดูแลคู่ครองที่ตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด และได้สัมผัสการพัฒนาการของทารกในครรภ์ เช่น ฟังเสียงหัวใจเต้น หรือรับรู้เวลาลูกดิ้น มักจะมีความรู้สึกผูกพันกับการตั้งครรภ์ รู้สึกใกล้ชิดกับทารกในครรภ์ ตระหนักในหน้าที่ของความเป็นพ่อ และมีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดอาการแพ้ท้อง

ปัญหาทางจิตใจ

แพทย์บางคนเชื่อว่า อาการแพ้ท้องแทนเมียนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น

  • อาการอิจฉาภรรยาที่สามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้
  • ความรู้สึกผิดที่ทำให้คนรักตั้งครรภ์
  • ความรู้สึกเป็นคู่แข่งในบทบาทของการเป็นพ่อแม่

จะรับมือกับอาการ แพ้ท้องแทนเมีย ได้อย่างไร

อาการแพ้ท้องนั้นมักจะไม่ใช่อาการที่รุนแรงอะไร และมักจะไม่จำเป็นต้องรับการรักษาเป็นพิเศษ แต่ก็มีวิธีการที่จะช่วยรับมือกับอาการเหล่านี้ เพื่อทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น

  • หากิจกรรมทำเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เช่น นั่งสมาธิ โยคะ ฟังเพลง ดูหนัง
  • รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่อย่าปล่อยให้ท้องว่าง
  • รับการบำบัดเพื่อจัดการกับความเครียด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  • ดื่มน้ำให้มาก
  • อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) บรรเทาความเครียด
  • ดื่มน้ำขิงแก้คลื่นไส้และอาเจียน
  • เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นพ่อแม่และการดูแลเด็ก ความเข้าใจในเรื่องเด็กที่มากขึ้นจะช่วยลดความกังวลไปได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What can you tell me about couvade? Can men really experience sympathetic pregnancy symptoms? https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/couvade-syndrome/faq-20058047. Accessed  July 27, 2023.

Expectant Dads May Also Have Hormonal Changes. https://www.webmd.com/men/news/20141217/expectant-dads-may-also-have-hormonal-changes-study-suggests. Accessed  July 27, 2023.

A Case of Concomitant Pseudocyesis and Couvade Syndrome Variant. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5875365/. Accessed  July 27, 2023.

False Pregnancy (Pseudocyesis). https://www.webmd.com/baby/false-pregnancy-pseudocyesis#1. Accessed  July 27, 2023.

The couvade syndrome. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8000469/. Accessed  July 27, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ขิง ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา