พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 6 อยู่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ในช่วงนี้ลูกน้อยอาจมีขนาดเล็กเท่ากับเม็ดถั่วเล็ก ๆ สมอง ระบบประสาท และหัวใจเริ่มพัฒนา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านการอัลตร้าซาวด์ ช่วงนี้คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าง่ายกว่าเดิม ดังนั้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลตัวเอง รวมถึงสังเกตสัญญาณผิดปกติด้วยเสมอ
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 6
ลูกจะเติบโตอย่างไร
สำหรับพัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 6 ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวเท่ากับถั่วลันเตาเล็ก ๆ ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร
ในสัปดาห์ที่ 6 นี้ สมองและระบบประสาทของทารกกำลังพัฒนาไปอย่างช้า ๆ รายละเอียดบนใบหน้า เช่น หูชั้นใน ถุงใต้ตา ลูกตา เริ่มปรากฏให้เห็น
หัวใจของทารกจะเริ่มเต้น และสามารถตรวจสอบการเต้นของหัวใจผ่านการอัลตราซาวด์ ระบบย่อยอาหารและระบบทางเดินหายใจเริ่มก่อตัว ตัวของทารกเริ่มโค้งงอเป็นรูปตัว C และเห็นว่ามีแขนขา
เนื่องจากตอนอยู่ในครรภ์ ขาของทารกจะอยู่ในลักษณะโค้งงอ ทำให้วัดส่วนสูงของทารกได้ยาก การวัดส่วนสูงของทารกในครรภ์จึงนิยมวัดจากกระหม่อมถึงก้น มากกว่าวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า โดยในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์นี้ ทารกในครรภ์จะมีขนาด 2-5 มม. โดยวัดจากกระหม่อมถึงก้น
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิต
ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
สัปดาห์ที่ 6 นี้คุณแม่ตั้งครรภ์อาจแพ้ท้องรุนแรงกว่าสัปดาห์ที่ 5 ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดูแลลูกน้อยในครรภ์ อาจรู้สึกว่าแค่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันปกติเหมือนที่เคยทำก่อน ตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งหากโหมทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงานล่วงเวลา ก็ยิ่งทำให้อ่อนเพลียรุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรรับมือกับความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียในช่วงตั้งครรภ์ด้วยวิธีเหล่านี้
- สังเกตอาการทางร่างกาย
หากรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย นั่นเป็นสัญญาณว่าควรพักผ่อน อย่าพยายามทำอะไรเกินกำลัง หรือโหมทำงานหนัก เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของทั้งและทารกในครรภ์
- ขอความช่วยเหลือ
คุณแม่ท้องต้องรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้าง เช่น ให้สามีหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวช่วยหิ้วของตอนไปจ่ายตลาด ช่วยทำงานบ้าน อย่าฝืนทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว
- นอนหลับให้มากขึ้น
การตั้งครรภ์อาจทำให้อ่อนเพลียและง่วงนอนบ่อย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ควรจะนอนให้มากขึ้น เพราะการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่เพียงแต่จะทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าไม่หาย แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน
- รับประทานอาหารให้เหมาะสม
ร่างกายจะมีพลังได้ก็ต่อเมื่อป้อนอาหารให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยคำนึงถึงข้อมูลโภชนาการที่เหมาะสมกับคนท้อง โดยเน้นไปที่อาหารเพิ่มพลังงานต่าง ๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลอรีเพียงพอในแต่ละวัน รวมถึงต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้อง เช่น แคลเซียม ไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก โคลีน กรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาจทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร แต่ก็ควรรรับประทานอาหารง่าย ๆ เช่น ข้าวต้ม ซุปฟักทอง เพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน โดยอาจเพิ่มขิงเข้าไปเล็กน้อยอาจจะช่วยลดอาการคลื่นไส้ของได้
- รับประทานให้บ่อยขึ้น
อาการเหนื่อยอ่อนอาจจัดการได้ด้วยการรับประทาน 6 มื้อ/วัน การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยให้ระดับพลังงานในร่างกายคงที่ ฉะนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหาอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มพลังงานให้ได้ด้วย
- เคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ
ความอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ทำให้รู้สึกอยากนอนบนโซฟานุ่ม ๆ ไปตลอดทั้งวัน แต่ทางที่ดี ควรหาเวลาออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะ ด้วยการทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น เดินรอบหมู่บ้าน ว่ายน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับทั้งและทารกในครรภ์ ทำให้หลับง่ายขึ้นในตอนกลางคืน ทั้งยังช่วยให้สามารถคลอดบุตรได้ง่ายขึ้นด้วย
หากอาการเหนื่อยอ่อนไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ให้รีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย เพราะอาจจะมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เหนื่อยอ่อนได้
ควรระมัดระวังอะไรบ้าง
การเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ในช่วง ตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจาก HCG หรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์เป็นตัวการที่ทำให้ต้องปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้ยังทำให้เลือดไหลไปหล่อเลี้ยงที่ไตมากขึ้น ทำให้มีการขับของเสียทั้งของและทารกออกมามากขึ้น การเข้าห้องน้ำจึงไม่ใช่เพราะคนเดียว แต่เป็นเพราะทารกในครรภ์ด้วย และนี่คือเทคนิคที่จะช่วยจัดการกับปัญหานี้
- โน้มตัวไปข้างหน้าในขณะที่ปัสสาวะ วิธีนี้อาจช่วยให้ปัสสาวะจนสุดได้ดีขึ้น เมื่อปัสสาวะเสร็จแล้ว ให้ลองปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ปัสสาวะจนหมดแล้วจริง ๆ วิธีนี้จะช่วยไม่ให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ อย่าลดปริมาณการดื่มน้ำ เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ร่างกายของและทารกต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการ ตั้งครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้นภาวะขาดน้ำอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ด้วย
- จำกัดคาเฟอีน ยิ่งบริโภคคาเฟอีนได้น้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี คาเฟอีนจะยิ่งทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยมากขึ้น แถมยังทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้นด้วย ฉะนั้น จึงควรจำกัดการดื่มคาเฟอีนแค่วันละ 200 เมกะกรัม หรือประมาณ 355 มิลลิลิตรนั่นแหละ
การปัสสาวะบ่อย ๆ อาจจะทำให้รำคาญ แต่นั่นจะช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกายให้ทั้งตัวและทารกได้เป็นอย่างดี
การพบคุณหมอ
ควรปรึกษาคุณหมออย่างไรบ้าง
ในเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์นั้น ความรู้สึกตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์จะเริ่มหายไป และกลับกลายเป็นความกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความกังวลของว่าที่คุณแม่ เช่น ช่วงที่ยังไม่รู้ว่า ตั้งครรภ์ เคยเผลอทำอะไรที่อาจเป็นอันตรายกับลูกในครรภ์ไหม ปวดศีรษะเลยเผลอกินยาแก้ปวดเข้าไป ดื่มไวน์ในช่วงมื้ออาหารเย็น หากมีความกังวลใจใด ๆ ไม่ต้องเครียด แต่ควรปรึกษาหมอ อย่าปิดบัง หมอจะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดได้
การทดสอบที่ควรรู้
บางครั้งอาจต้องรอจนถึงสัปดาห์ที่ 8 หรือ 9 จึงจะมีการทดสอบ แต่หากกังวลเรื่องใด ก็สามารถนัดปรึกษาหมอได้ ในการไปพบหมอครั้งแรกอาจมีการตรวจเลือด เพื่อตรวจหากรุ๊ปเลือดของ ว่าเป็นเลือดกรุ๊ป A B AB หรือ O และตรวจหากรุ๊ปเลือด Rh ว่ามีผลเป็น Rh positive หรือ Rh negative รวมถึงตรวจหาว่ามีภูมิคุ้มกันโรคบางชนิดจากการฉีดวัคซีนครั้งที่แล้วหรือไม่ เช่น โรคหัดเยอรมัน หรือโรคตับอักเสบบี
สุขภาพและความปลอดภัย
ควรทำอย่างไรเพื่อให้สุขภาพดีและปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความเครียดจะส่งผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจจะสงสัยว่าความเครียดจะทำให้เกิดการแท้งลูกได้หรือไม่ ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนาน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ โดยสาเหตุที่แท้จริงของการแท้งลูกในผู้หญิงตั้งครรภ์ 10-20% ก็คือ ความผิดปกติของโครโมโซม ปัญหาด้านพัฒนาการของตัวอ่อน รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- ความผิดปกติของโครโมโซมในผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณคุณแม่คนใดคนหนึ่ง
- การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกและคอมดลูก
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- ระบบภูมิคุ้มกันมีผลต่อกระบวนการในการฝังตัวของตัวอ่อน
ถ้ารู้สึกเป็นกังวลว่าอาจเกิดการแท้งลูก ก็ควรเน้นการดูแลตัวเองและทารกในครรภ์ อยู่ให้ไกลจากความเสี่ยงทั้งหลาย เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
การใช้วิตามินในทางที่ผิด
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวังให้ดีก็คือ การใช้วิตามินเสริม หรืออาหารเสริม เพราะแม้หญิงที่ ตั้งครรภ์ จะต้องการสารอาหารจำนวนมาก แต่หากเพิ่มสารอาหารด้วยการใช้วิตามินเสริม หรืออาหารเสริมมากเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายกับตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ได้เช่นกัน
แล้วมาดูกันว่า ในสัปดาห์ต่อไป คุณแม่ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และทารกในครรภ์จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง