backup og meta

อาการหลังลูกหลุด สาเหตุ และวิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่

อาการหลังลูกหลุด สาเหตุ และวิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่

อาการหลังลูกหลุดจากการแท้งลูก นอกจากอาการทางกายอย่างเลือดออกจากช่องคลอด รู้สึกไม่สบายตัวแล้ว ยังอาจมีอาการทางจิตใจเนื่องจากความเสียใจจากการสูญเสียทารกในครรภ์ก่อนถึงวันกำหนดคลอด อาจส่งผลให้ นอนไม่หลับ ฝันร้าย เบื่ออาหาร ซึมเศร้า จนอาจนำไปสู่ความคิดอยากทำร้ายตัวเองได้ ดังนั้น คนรอบข้างจึงควรดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจนำไปสู่การสูญเสียมากกว่าเดิม

สาเหตุที่ทำให้ลูกหลุด

สาเหตุที่ทำให้ลูกหลุด ซึ่งมักพบได้ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ อาจมาจากปัญหาต่าง ๆ ดังนี้

  • ปัญหาโครโมโซมผิดปกติ โครโมโซมหรือสารพันธุกรรมมีความสำคัญต่อการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเซลล์ของร่างกาย อวัยวะเเละโครงสร้างระบบต่างๆ สีดวงตา สีผิวของทารก แต่หากโครโมโซมมีความผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายทารกไม่สามารถพัฒนาได้ตามปกติ จนนำไปสู่การแท้งบุตรหรือทำให้ลูกหลุด
  • ปัญหาเกี่ยวกับรก เนื่องจากรกเป็นอวัยวะที่เชื่อมโยงระหว่างคุณแม่และทารก มีหน้าที่คอยรับเลือดและสารอาหารจากคุณแม่ส่งต่อสู่ลูก หากรกมีปัญหา เช่น รกเกาะต่ำ รกมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กผิดปกติ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูกได้
  • ปากมดลูกอ่อนแอ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การผ่าตัดบริเวณปากมดลูก เคยมีการถ่างขยายปากมดลูกมาก่อน ความผิดปกติของคอลลาเจลที่ปากมดลูก การบาดเจ็บที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณปากมดลูกอ่อนแรง จนอาจทำให้ปากมดลูกเปิดขยายเร็วจนเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ และส่งผลให้แท้งลูก
  • ความผิดปกติของมดลูก เช่น มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ เนื้องอกในมดลูก อาจพบได้ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ที่อาจส่งผลให้เสี่ยงแท้งลูกโดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีลูกยาก
  • การสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทารกในครรภ์ เสี่ยงแท้งลูก อีกทั้งยังทำให้น้ำหนักแรกเกิดต่ำ โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม และเสียชีวิตกะทันหัน
  • เครื่องดื่มแอลกฮอลล์ ทารกอาจได้รับแอลกอฮอล์ผ่านเลือดที่ส่งต่อมาทางรก ซึ่งอาจชะลอการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงสมองพิการ คลอดก่อนกำหนด และอาจมีพัฒนาการล่าช้า กล้ามเนื้อไม่ดี มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจหลังคลอดได้
  • โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ต่อมไทรอยด์ โรคลูปัส อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูกได้
  • การติดเชื้อ เช่น หัดเยอรมัน ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เอชไอวี มาลาเรีย ซิฟิลิส หนองในเทียม หนองในแท้ หรือการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงต่อทารกในครรภ์ ทำให้มีพัฒนาการล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายใน และอาจทำให้เสียชีวิตในครรภ์ได้
  • อาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อและปรุงสุก เช่น บลูชีส เนื้อดิบ ไข่ดิบ อาจทำให้ได้ร่างกายคุณแม่รับเชื้อลิสเทอเรีย (Listeriosis) ท็อกโซพลาสโมซีส (Toxoplasmosis) และเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) ซึ่งล้วนแต่เป็นการติดเชื้อที่อันตรายที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งลูกได้
  • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยารักษากลาก ยาลดสิว ยาต้านอักเสบ ยาบรรเทาอาการปวด อาจเพิ่มความเสี่ยงส่งผลให้คุณแม่แท้งลูกได้ ดังนั้น ก่อนการใช้ยา จึงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อรับการตรวจสุขภาพและรับยารักษาตามอาการอย่างเหมาะสม
  • สารพิษและรังสี เช่น สารในโรงงาน รังสีเอกซเรย์ รังสีการรักษามะเร็ง อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทารกในครรภ์อย่างมาก ทั้งความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง การเจริญเติบโตและพัฒนาการล่าช้า พิการแต่กำเนิด และอาจทำให้แท้งลูก

อาการหลังลูกหลุด ที่คนรอบข้างควรสังเกต

อาการหลังลูกหลุด โดยส่วนใหญ่คุณแม่อาจมีเลือดออกจากช่องคลอด ไม่สบายตัวเล็กน้อย ปวดท้อง ซึ่งอาจไม่เป็นอันตรายใด ๆ  แต่คุณแม่อาจจำเป็นต้องรับการตรวจกับคุณหมอเพื่อดูว่าการแท้งลูกสมบูรณ์หรือจำเป็นต้องขูดมดลูกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการเลือดออกมากว่าปกติ และมีอาการหนาวสั่น มีสารคัดหลั่งจากช่องคลอดที่มีสีเหลืองปนเขียว คล้ายหนอง หรือปวดท้องหรือช่องคลอดอย่างรุนแรง ควรพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณที่อันตราย เช่น การติดเชื้อ การตกเลือด

นอกจากนี้ การแท้งลูกอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และอารมณ์ของคุณแม่และคุณพ่อเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกเหนื่อยล้า เบื่ออาหาร นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ฝันร้าย ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มีความรู้สึกเสียใจ ตกใจ โกรธและโทษตัวเอง ซึมเศร้า บางคนอาจทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น คนรอบข้างจึงควรดูแลเอาใจใส่ และคอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ และหากสังเกตพบอาการผิดปกติควรติดต่อคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทันที

วิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังลูกหลุด

วิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่หลังลูกหลุด อาจทำได้ ดังนี้

  • จัดการกับความรู้สึกของตัวเอง ควรดูแลสุขภาพด้วยการทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดมากไปกว่าเดิม และลดความเสี่ยงการฆ่าตัวตาย หรืออาจปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยรับมือกับความเสียใจที่เกิดขึ้น
  • ให้กำลังใจกันและกัน คุณพ่อคุณแม่รวมถึงเพื่อน และญาติ ๆ ควรให้กำลังใจ พูดปลอบ หรือโอบกอด เพื่อให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น
  • เข้าพบคุณหมอหากวางแผนมีบุตรอีกครั้ง เพราะหากวินิจฉัยว่าเสี่ยงมีบุตรยาก คุณหมออาจแนะนำให้ใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การผสมเทียม การฝากท้อง หรืออาจรับเด็กบุญธรรมมาเลี้ยง

หากต้องการมีลูกในอนาคต ควรตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ก่อนการตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้แท้งลูก

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Miscarriage. https://www.webmd.com/baby/guide/pregnancy-miscarriage. Accessed March 03, 2022

Stop smoking in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/stop-smoking/. Accessed March 03, 2022

Alcohol and pregnancy. https://medlineplus.gov/ency/article/007454.htm. Accessed March 03, 2022

Grief After Miscarriage. https://www.webmd.com/baby/grief-after-miscarriage#1. Accessed March 03, 2022

Coping with Miscarriage. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=coping-with-miscarriage-1-4036. Accessed March 03, 2022

Pregnancy after miscarriage: What you need to know. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/getting-pregnant/in-depth/pregnancy-after-miscarriage/art-20044134. Accessed March 03, 2022

Afterwards-Miscarriage. https://www.nhs.uk/conditions/miscarriage/afterwards/. Accessed March 03, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์หลังแท้งบุตร ต้องรอนานเท่าไรถึงจะมีลูกได้อีก

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ การขูดมดลูก สำหรับคุณแม่แท้งบุตร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา