backup og meta

ผล ตรวจครรภ์ 2 ขีด บ่งบอกว่าท้องหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    ผล ตรวจครรภ์ 2 ขีด บ่งบอกว่าท้องหรือไม่

    หลังจากมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 21 วัน แล้วมีอาการเหมือนคนตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ คัดเต้านม ประจำเดือนขาด หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ควรซื้อชุดทดสอบการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองมาทดสอบเบื้องต้น หากผล ตรวจครรภ์ 2 ขีด อาจหมายความว่า กำลังตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมออีกครั้ง เพื่อให้ทราบผลการตั้งครรภ์ที่แน่ชัด

    วิธีตรวจสอบการตั้งครรภ์

    วิธีตรวจสอบการตั้งครรภ์ อาจเริ่มตรวจเองได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือเกิดข้อผิดพลาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เช่น ถุงยางขาด อย่างน้อย 21 วัน ซึ่งควรตรวจในช่วงเช้าของวันหรือปัสสาวะแรก เพราะจะมีระดับความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) สูง และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ 97-99% หากมีผลตรวจครรภ์ 2 ขีด อาจกำลังตั้งครรภ์

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์มี 2 รูปแบบ ดังนี้

    1. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    ภายในกล่องอาจมีกระดาษหรืออุปกรณ์พลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะ และถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ

    วิธีใช้

    1. ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    2. นำกระดาษทดสอบหรือส่วนปลายของอุปกรณ์พลาสติกซึ่งจะมีช่องเล็ก ๆ อยู่ 5 ช่องจุ่มลงไปในปัสสาวะ โดยอย่าให้เกินขีดที่กำหนด จากนั้นรอประมาณ 7-10 วินาที
    3. ปิดฝาหรือวางกระดาษบนพื้นที่ที่สะอาด 5 นาที เพื่อรอผลทดสอบ

    2. ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    ประกอบด้วยตลับพลาสติกสำหรับทดสอบการตั้งครรภ์ ถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ และหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ 

    วิธีใช้

    1. ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    2. นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะ แล้วหยดน้ำปัสสาวะลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด บางกรณี ตลับการทดสอบอาจอ่านค่าช้า หรือปัสสาวะไม่เพียงพอให้ผลลัพธ์ขึ้น เพื่อป้องกันการผิดพลาดอาจเปลี่ยนจาก 3 หยด เป็น 6 หยดก็ได้
    3. วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ

    ควรซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์อย่างน้อย 2-3 ชุดขึ้นไป เพื่อนำผลลัพธ์มาเปรียบเทียบว่าตรงกันหรือไม่ หากผลลัพธ์ต่างกัน อาจเข้ารับการทดสอบตั้งครรภ์จากคุณหมอ โดยอาจได้รับการตรวจด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ตรวจเลือด คุณหมออาจเก็บตัวอย่างเลือดในหลอดทดลองและนำสก็อตเทปติดกับหลอดทดลองบนผนังหรือกำแพงประมาณ 10 นาที เพื่อให้เลือดแบ่งชั้นและจับตัวเป็นก้อน จากนั้น คุณหมอจะใช้เข็มฉีดยาดูดซีรั่มชั้นบนของเลือดออกและหยดในชุดทดสอบการตั้งครรภ์ประมาณ 4 หยด วิธีนี้ไม่ควรทำด้วยตัวเองเพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อได้
    • ตรวจปัสสาวะ เป็นวิธีเดียวกับการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง โดยคุณหมอจะขอเก็บตัวอย่างปัสสาวะและนำอุปกรณ์ทดสอบจุ่มลงไป

    ตรวจครรภ์ 2 ขีด ท้องหรือไม่ 

    การอ่านผลลัพธ์บนชุดทดสอบการตั้งครรภ์สังเกตได้จากขีดที่ขึ้นตรงกับตัวอักษร C (Control Line) และ T (Test Line) ซึ่งมีความหมาย ดังนี้

    ไม่ตั้งครรภ์

    หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด มีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์ หรือระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่ำ แต่บางกรณีที่ตั้งครรภ์ก็อาจมีผลทดสอบแสดงว่าไม่ตั้งครรภ์ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ผลการตรวจครรภ์คลาดเคลื่อน เช่น

    • ชุดทดสอบการตั้งครรภ์หมดอายุหรือไม่ได้มาตรฐาน
    • คำนวณวันตรวจครรภ์ผิด 
    • ดื่มน้ำมาก่อนทดสอบจนทำให้ปัสสาวะเจือจาง 
    • มีฮอร์โมนการตั้งครรภ์ต่ำ 
    • เกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแก้แพ้ ยากันชัก ยากล่อมประสาท

    หากผลตรวจออกมาเป็นลบหรือไม่ตั้งครรภ์ อาจลองทดสอบอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์

    ตั้งครรภ์

    หากเส้นสีแดงขึ้น 2 ขีดแบบชัดเจน ตรงกับตัวอักษร C และ T อาจมีความหมายว่า กำลังตั้งครรภ์ ในกรณีที่เส้นสีแดงที่ขึ้นตรงกับตัว T มีสีเจือจาง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจปัสสาวะใหม่ในช่วงเช้าวันต่อไป

    ดังนั้น หากผลตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด อาจเป็นไปได้ว่า ขณะนี้กำลังมีการตั้งครรภ์ หากมีความกังวลอาจขอรับการตรวจครรภ์จากคุณหมอ เพื่อให้ทราบผลลัพธ์ที่แน่ชัด

    สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดผลตรวจครรภ์ 2 ขีด

    เมื่อทราบผลว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพตัวเองและทารกในครรภ์ให้แข็งแรง ดังนี้

    • ฝากครรภ์ คุณแม่ควรเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอทำการนัดหมายเพื่อตรวจครรภ์และสุขภาพของคุณแม่ ตามช่วงอายุครรภ์ เช่น การอัลตราซาวด์ ตรวจคัดกรองโรคที่อาจส่งผลต่อทารก เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อราในช่องคลอด โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
    • ฉีดวัคซีน ควรได้รับการฉีดวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้คุณแม่และทารก รวมถึงป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไอกรน โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคโควิด-19
    • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วงตั้งครรภ์ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ส่วนใหญ่คุณหมออาจแนะนำให้นอนตะแคงซ้าย เพื่อช่วยให้ทารกในครรภ์ไม่กดทับหลอดเลือด และช่วยลดอาการบวมที่ขา หรืออาการเส้นเลือดขอด หรือหากนอนหงายควรนำหมอนรองบริเวณหลัง ขา และใต้ท้องเพื่อลดแรงกดที่หลัง
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด มีพัฒนาการล่าช้า ระบบประสาทถูกทำลาย แท้งบุตร สำหรับคาเฟอีนในกาแฟ คุณแม่อาจบริโภคได้ 1-2 ถ้วย/วัน สำหรับเครื่องดื่มอื่น ๆ ควรอ่านฉลากบนข้อมูลโภชนาการว่ามีส่วนประกอบของคาเฟอีนหรือไม่ เพราะคาเฟอีนอาจอยู่ในอาหารอื่น ๆ ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต ได้เช่นกัน
    • งดการสูบบุหรี่ นิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่ อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบทางเดินหายใจมีปัญหา และเสี่ยงต่อเสียชีวิตกะทันหัน
    • ออกกำลังกาย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายในระดับเบา เช่น แอโรบิก โยคะ พิลาทิส อย่างน้อย 150 นาที/ต่อสัปดาห์ เพื่อลดปัญหาท้องผูก อาการปวดหลัง ปรับปรุงการนอนหลับ ป้องกันน้ำหนักเกิน เพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความเจ็บปวดหลังคลอดได้เร็ว
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและท้องผูก การดื่มน้ำปริมาณมากในแต่ละวันอาจช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คุณแม่อาจต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรี่/วัน โดยเฉพาะในช่วงที่ทารกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผัก ผลไม้ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

    นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก เช่น ไข่ เต้าหู้ ผักใบเขียว ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว แซลมอน นมถั่วเหลือง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูก ช่วยผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่นำส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดความบกพร่องของท่อประสาท เสริมสร้างสมองและไขสันหลังของทารกที่กำลังพัฒนา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา