backup og meta

รู้ไว้ใช้ช่วยชีวิตได้ การปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น

รู้ไว้ใช้ช่วยชีวิตได้ การปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น

รอบตัวของเรานั้น มีสิ่งที่เรียกว่าสารพิษอยู่เต็มไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาขัดห้องน้ำที่วางอยู่มุมห้อง ผงซักฟอกที่หลังบ้าน หรือแม้แต่ฝุ่นควันรถยนตร์ตามท้องถนน ซึ่งสารพิษเหล่านี้ก็อาจจะทำอันตรายต่อเราได้ หากเราได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายผ่านทางการสูดดมหรือการรับประทาน วันนี้ Hello คุณหมอ แลยจะมานำเสนอเกี่ยวกับ การปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น เพื่อการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับสารพิษ อย่างถูกต้องและเหมาะสมกันค่ะ

อย่างไรจึงจะเรียกว่าสารพิษ

คำว่า สารพิษ หมายถึงสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา สารเคมีเหล่านี้อาจจะมีทั้งในสถานะของแข็ง ของเหลว หรือแม้กระทั่งก๊าซต่างๆ เมื่อเรารับประทาน สูดดม สัมผัส หรือฉีดสารเคมีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ก็อาจจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะ หรือรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้

ตัวอย่างของสารพิษที่เราอาจพบเจอได้ในชีวิตประจำวันคือ

  • การใช้ยาเกินขนาด
  • สารทำความสะอาดต่างๆ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือน้ำยาล้างจาน
  • ยาฆ่าแมลง
  • ควันรถยนต์
  • สารตะกั่ว และสารปรอท ที่มักจะพบได้ในสีทาบ้าน

ระดับความรุนแรงจากสารพิษเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และวิธีการที่เราได้รับสารพิษ และหากไม่ทำการปฐมพยาบาลและการรักษาที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายอย่างถาวรเลยก็ได้

ลักษณะอาการที่บ่งบอกถึง ผู้ได้รับสารพิษ

สัญญาณและอาการที่บ่งบอกถึงผู้ที่ได้รับสารพิษ อาจมีดังต่อไปนี้

  • มีอาการแสบร้อน หรือรอยแดงในบริเวณปากและริมฝีปาก
  • ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายสารเคมี น้ำมัน หรือสีทาบ้าน
  • อาเจียน
  • หายใจไม่ออก
  • ชัก หมดสติ
  • ง่วงซึม
  • สับสน งุนงง

หากคุณสงสัยว่ามีคนกำลังได้รับพิษจากสารเคมี ลองมองไปรอบๆ เพื่อมองหาเบาะแส เช่น ขวดยาเปล่า ขวดน้ำยา หรือบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีที่น่าจะเป็นต้นเหตุของสารพิษ และทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที

วิธี การปฐมพยาบาลผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก

ก่อนเริ่มทำการปฐมพยาบาล ผู้ช่วยเหลือจะต้องทำการประเมินผู้ที่ได้รับสารพิษ ตลอดจนถึงดูว่าสารพิษที่ผู้ป่วยได้รับนั้นเป็นสารพิษประเภทใด เพื่อจะได้สามารถทำการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

สารพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อน สารพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อนต่างๆ เช่น กรด ด่าง และสารเคมีที่ใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว จะทำให้ริมฝีปาก ท้อง และลำคอเกิดอาการไหม้ แสบร้อน พองใน คลื่นไส้ อาเจียน หรือช็อค เราสามารถปฐมพยาบาลได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังคงมีสติอยู่หรือไม่ หากยังมีสติอยู่ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือนม เพื่อช่วยเจือจางสารพิษในกระเพาะ
  • ห้ามให้ผู้ป่วยอาเจียน
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

สารเคมีจำพวกน้ำมัน เช่น น้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซิน ยาฆ่าแมลงชนิดน้ำมัน ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คลื่นไส้ อาเจียน และลมหายใจมีกลิ่นน้ำมัน มีวิธีการปฐมพยาบาลคือ

  • ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
  • ในช่วงระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล หากผู้ป่วยอาเจียน ควรจัดศีรษะผู้ป่วยให้อยู่ต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักน้ำมันเข้าปอด

การรับประทานยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยานอนหลับ หรือยาแอสไพริน (Aspirin) มีวิธีปฐมพยาบาลดังนี้

  • เจือจางสารพิษ ด้วยการให้ดื่มน้ำหรือนม
  • ให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยการใช้วิธีล้วงคอ หรือกวาดคอ เพื่อกระตุ้นให้อยากอาเจียน
  • นำตัวส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ

การสูดหายใจก๊าซพิษ มีทั้งก๊าซพิษที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน หรือไฮโดรเจน ก๊าซที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือก๊าซที่ทำอันตรายทั่วร่าง เช่น ก๊าซอาร์ซีน หากพบผู้ป่วยที่สูดดมสารพิษเหล่านี้ สามารถปฐมพยาบาลได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • กลั้นหายใจ และรีบเปิดประตูหรือหน้าต่าง เพื่อถ่ายเทอากาศโดยรอบออก
  • ย้ายผู้ป่วยออกมายังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท และมีอากาศบริสุทธิ์
  • ตรวจสอบการเต้นของหัวใจ และการหายใจ หากผู้ป่วยไม่หายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการ CPR
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง

สารพิษที่อาจซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย มีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นดังนี้

  • กำจัดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารพิษเหล่านั้นในทันที
  • ล้างทำความสะอาดบริเวณที่โดนสารพิษในทันที ควรล้างโดยการเปิดให้น้ำไหลผ่าน และล้างออกด้วยน้ำสะอาด เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที อาจใช้สบู่อ่อนๆ ร่วมด้วยก็ได้เช่นกัน
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษทางดวงตา

หากสารพิษต่างๆ เข้าสู่ดวงตา ควรทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาด เปิดให้น้ำไหลผ่านด้วยตา ควรล้างตาเป็นเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที หากผู้ป่วยนั้นใส่คอนแทคเลนส์ ให้ทำการถอดคอนแทคเลนส์ก่อนล้างตา
  • บรรเทาอาการปวด และจัดการกับอาการช็อค
  • ปิดตาผู้ป่วย และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล

วิธีเหล่านี้ เป็นเพียงวิธีในการช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ได้รับสารพิษ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วย คือการรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ตัวผู้ช่วยเหลือก็ควรที่จะตั้งสติ และตรวจดูให้มั่นใจก่อนว่าตัวเองนั้นอยู่ในจุดที่ปลอดภัย ก่อนจะเข้าช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือยากขึ้น

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษ http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=233:%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%96-%m-%E0%B9%90%E0%B9%95-%E0%B9%90%E0%B9%98-%M-%S&catid=49:-m—m-s&Itemid=203

Poisoning: First aid https://www.mayoclinic.org/first-aid/first-aid-poisoning/basics/art-20056657

First Aid Instructions for Poisonings https://www.poison.org/articles/first-aid

Poisoning – first aid https://healthywa.wa.gov.au/Articles/N_R/Poisoning-first-aid

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/10/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผงถ่านกัมมันต์ ล้างสารพิษและชะลอวัยได้จริงหรือ?

กินยาเกินขนาด ภัยอันตรายที่อาจคร่าชีวิต


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 02/10/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา