backup og meta

น้ำหนักเด็ก และส่วนสูง ที่เหมาะสมในเด็กแต่ละช่วงวัย

น้ำหนักเด็ก และส่วนสูง ที่เหมาะสมในเด็กแต่ละช่วงวัย

น้ำหนักเด็ก และส่วนสูง เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจ เนื่องจาก น้ำหนักและส่วนสูงอาจเป็นตัวบ่งชี้การเจริญเติบโตและพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กในแต่ละช่วงวัย โดยน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละช่วงวัยอาจนำมาใช้ในการประเมินสุขภาพเบื้องต้น และยังอาจบอกถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาทางด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เกณฑ์น้ำหนักเด็กและส่วนสูงเป็นเพียงการประมาณค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาเด็กไปตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง

[embed-health-tool-child-growth-chart]

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อน้ำหนักเด็กและส่วนสูง

พันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการกำหนดน้ำหนักเด็ก ส่วนสูง และพัฒนาการทางร่างกาย แต่ก็อาจมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อน้ำหนักเด็กได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น อาจมีดังนี้

  • การตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วเด็กที่คลอดตามกำหนดจะมีการพัฒนาทางร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ เมื่อคลอดออกมาจึงอาจทำให้เด็กมีน้ำหนักที่สมส่วนและสุขภาพดี ในทางกลับกันเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะไม่ได้รับการพัฒนาทางร่างกายอย่างเหมาะสม โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพของคุณแม่ หรืออาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเมื่อยังเป็นทารกในครรภ์ ซึ่งอาจทำให้เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักน้อยกว่าปกติและอาจมีสุขภาพที่อ่อนแอ จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจนกว่าร่างกายจะแข็งแรงขึ้น
  • สุขภาพและการใช้ชีวิตในระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด รับประทานอาหารที่ไม่ช่วยบำรุงครรภ์ หรือรับประทานอาหารที่มีโภชนาการที่ไม่ดี ก็อาจมีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักเด็กน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานและอาจมีขนาดตัวเล็ก นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักเด็กมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้เช่นกัน
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการนูแนน (Noonan Syndrome) กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของยีนในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและน้ำหนักเด็ก
  • เพศ เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ซึ่งโดยปกติเด็กแรกเกิดเพศหญิงมักมีน้ำหนักน้อยกว่าเด็กแรกเกิดเพศชาย
  • การให้เด็กกินนมแม่หรือนมผง ในช่วงปีแรกน้ำหนักเด็กที่กินนมแม่จะน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง เนื่องจากสารอาหารและส่วนประกอบในนมที่แตกต่างกัน และเมื่อผ่านไปจนอายุประมาณ 2 ขวบ เด็กจะเริ่มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกัน
  • ฮอร์โมน ความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เช่น หากเด็กมีระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่ำ ระดับไทรอยด์ต่ำ อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ช้าลง ซึ่งอาจทำให้น้ำหนักเด็กน้อยตามไปด้วย
  • การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำและใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากฤทธิ์ของยาอาจยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไต ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก
  • ปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ส่งผลต่อการกินหรือดูดซึมสารอาหาร เช่น มะเร็ง โรคไต โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคซิลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้เกิดเมือกหนาและเหนียวในระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบสืบพันธุ์ ปัญหาทางเดินอาหาร อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและน้ำหนักเด็กได้
  • การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ อาจส่งผลดีต่อพัฒนาการทางร่างกายของเด็กอย่างมาก เนื่องจากในระหว่างนอนหลับร่างกายจะเริ่มกระบวนการสร้างและซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อ ช่วยให้เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาน้ำหนักที่สมส่วนตามวัย

น้ำหนักเด็ก และส่วนสูง ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย

ค่าเฉลี่ยน้ำหนักเด็กและส่วนสูงที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้

น้ำหนักเด็กแรกเกิดถึง 11 เดือน

  • เด็กแรกเกิด เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 49.2 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3.2 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 49.9 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3.4 กิโลกรัม
  • อายุ 1-6 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 53.7-65.7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 4.2-7.3 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 54.7-67.6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 4.5-7.9 กิโลกรัม
  • อายุ 7-11 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 67.3-72.8 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 7.6-8.7 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 69.2-74.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 8.3-9.4 กิโลกรัม

น้ำหนักเด็กวัยหัดเดิน อายุ 12-23 เดือน

  • อายุ 12-14 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 74-76.4 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 9-9.4 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 75.8-78.1 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 9.7-10.1 กิโลกรัม
  • อายุ 15-17 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 77.5-79.7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 9.6-10 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 79.2-81.3 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 10.3-10.7 กิโลกรัม
  • อายุ 18-20 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 80.7-82.7 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 10.2-10.7 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 82.3-84.2 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 10.9-11.4 กิโลกรัม
  • อายุ 21-23 เดือน เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 83.7-85.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 10.9-11.3 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 85.1-86.9 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 11.6-12 กิโลกรัม

น้ำหนักเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-4.5 ปี

  • อายุ 2-2.5 ปี เด็กงผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 85-90 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 12-13 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 87-91 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 13-14 กิโลกรัม
  • อายุ 3-3.5 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 94-98 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 14-15 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 95-99 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 14-15 กิโลกรัม
  • อายุ 4-4.5 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 101-105 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 16-17 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 103-106 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 16-17 กิโลกรัม

น้ำหนักเด็กวัยเรียน อายุ 5-18 ปี

  • อายุ 5 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 108 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 109 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 18.5 กิโลกรัม
  • อายุ 6 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 115 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 116 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 21 กิโลกรัม
  • อายุ 7 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 122 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 23 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 122 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 23 กิโลกรัม
  • อายุ 8 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 128 เซนติเมตร และน้ำหนัก 26 กิโลกรัม เด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 128 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 26 กิโลกรัม
  • อายุ 9-12 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 127-163 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 24-48 กิโลกรัม เด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 128-161 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 24-59 กิโลกรัม
  • อายุ 14-16 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 150-173 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 38-78 กิโลกรัม ส่วนเด็กผู้ชาย 150-185 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 38-84 กิโลกรัม
  • อายุ 18 ปี เด็กผู้หญิงควรมีส่วนสูงประมาณ 152-174 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 45-80 กิโลกรัม เด็กผู้ชายควรมีส่วนสูงประมาณ 165-187 เซนติเมตร และน้ำหนักประมาณ 53-92 กิโลกรัม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

National Center for Health Statistics. https://www.cdc.gov/growthcharts/who_charts.htm. Accessed May 22, 2022

Average weight and growth chart for babies, toddlers, and kids. https://www.babycenter.com/baby/baby-development/average-weight-and-growth-chart-for-babies-toddlers-and-beyo_10357633. Accessed May 22, 2022

Growth, Range of Height and Weight. https://www.cincinnatichildrens.org/health/g/normal-growth. Accessed May 22, 2022

Pediatric Norms. https://www.dmconsortium.org/filesimages/clerkship%20resources/peds_pediatric_norms.pdf. Accessed May 22, 2022

Make your Best Guess: an updated method for paediatric weight estimation in emergencies. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18021105/. Accessed May 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เกมสำหรับเด็ก วัยเรียน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการอย่างเหมาะสม

จักรยานเด็ก ประโยชน์ที่ช่วยพัฒนาความสมดุลร่างกาย


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา