backup og meta

สัญญาณเตือนออทิสติก ที่พ่อแม่ควรสังเกต

สัญญาณเตือนออทิสติก ที่พ่อแม่ควรสังเกต

ออทิสติก คือความผิดปกติของพัฒนาการเด็ก ซึ่งส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะทางสังคม ทักษะทางภาษาได้อย่างเหมาะสมตามวัย และจะแสดงพฤติกรรมอย่างเดิมซ้ำ ๆ สัญญาณเตือนออทิสติก ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ชัด คือ เด็กไม่ตอบสนองต่อเสียง ไม่ชอบให้ใครสัมผัสตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อทราบถึงวิธีเสริมสร้างพัฒนาการ เพื่อกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ออทิสติก คืออะไร

ออทิสติก หรือกลุ่มอาการออทิสติก คือ ภาวะความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน จนส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเข้าสังคม ด้านการสื่อสาร ด้านพฤติกรรม ด้านอารมณ์ ทำพฤติกรรมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ชอบพูดเลียนแบบ สะบัดมือไปมา เด็กที่เป็นโรคออทิสติกแต่ละคนอาจแสดงอาการต่างกัน บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย ไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก ในขณะที่บางคนอาจต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติเองได้

หากพ่อแม่สงสัยและกังวลว่าลูกจะเป็นออทิสติกหรือไม่ คุณหมออาจแนะนำให้ทำการทดสอบและสังเกตพัฒนาการของลูก เช่น ทารกอายุ 6 เดือนไม่มีการยิ้มหรือแสดงความรู้สึกมีความสุข อายุ 12 เดือนแล้วไม่ร้องอ้อแอ้ อายุ 14 เดือนไม่แสดงท่าทาง ชี้ไปที่สิ่งของ หรืออายุ 16 เดือน ยังไม่สามารถพูดคำใด ๆ ได้

สัญญาณเตือนออทิสติก

การสังเกตอาการ หรือสัญญาณเตือนโรคออทิสติกอาจทำได้ยาก เพราะเด็กบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคออทิสติกอาจมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับอาการของโรคออทิสติกเช่นกัน เด็กที่เป็นโรคออทิสติกส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้เมื่ออายุเกิน 4 ปีขึ้นไป แต่บางอาการก็อาจสังเกตได้ตั้งแต่เกิด โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตสัญญาณเตือนออทิสติกในแต่ละช่วงวัยได้ ดังนี้

เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

ในช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพัฒนาการว่าเด็กมีพัฒนาการตรงตามตารางพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยหรือไม่ โดยพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของออทิสติกในเด็กต่ำกว่า 1 ปี เช่น

  • มักไม่ตอบสนองต่อเสียง ไม่ตอบสนองเวลาเรียกชื่อ เวลาได้ยินเสียงอะไรก็ไม่ค่อยหันไปหาที่มาของเสียง หรือไม่สะดุ้งเวลาได้ยินเสียงดัง
  • ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่ยิ้ม บางครั้งดูเหม่อลอย
  • ไม่ค่อยสนใจเกมการละเล่นของเด็กทารก เช่น เวลาคน “จะเอ๋” ก็ไม่สน
  • ไม่ชอบให้ใครกอดหรือสัมผัสตัว
  • ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือแสดงพฤติกรรมที่คล้ายการพูดคุย
  • ไม่รู้จักแสดงภาษากาย เช่น การขยี้หน้าขยี้ตาเวลาง่วงนอน การโผเข้าหาเวลาอยากให้อุ้ม

เด็กอายุ 1-2 ปี

  • ไม่ชี้หรือแสดงความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือแสดงออกว่าสนอกสนใจสิ่งใด ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กอายุ 14-16 เดือนส่วนใหญ่ มักจะชี้ชวนให้คนอื่นดูสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น ลูกหมา ของเล่น
  • ไม่รู้จักแสดงภาษากาย เช่น การส่ายหัวปฏิเสธ การพยักหน้าตอบตกลง การโบกมือลา
  • สูญเสียทักษะการพูด หรือทักษะการเข้าสังคม เช่น แต่ก่อนเคยพูดอ้อแอ้ พูดคำสั้น ๆ หรือสนใจคนอื่น แต่ปัจจุบันไม่เป็นแบบนั้นแล้ว
  • อายุเกิน 16 เดือนแล้ว แต่ยังไม่เคยพูดคำที่มีพยางค์เดียว หรืออายุเกิน 24 เดือน (2 ปี) แล้วแต่ยังพูดคำที่มีสองพยางค์ขึ้นไป หรือวลีสั้น ๆ ไม่ได้
  • ชอบปลีกตัว อยู่ในโลกของตัวเอง ไม่สนใจคนรอบข้าง
  • เดินเขย่งปลายเท้า หรือไม่ยอมเดินเลย

เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป

  • มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือมีภาวะพูดช้า อาจมีปัญหาเวลาแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เด็กที่เป็นโรคออทิสติกบางคนอาจไม่พูดเลย ส่วนบางคนก็อาจมีปัญหาเวลาต้องพูดคุยกับผู้อื่น
  • มีรูปแบบในการพูดแตกต่างจากปกติ เช่น เช่น พูดซ้ำไปซ้ำมา ใช้คำพูดซับซ้อนเข้าใจยาก พูดจาตะกุกตะกัก พูดด้วยโทนเสียงสูงหรือต่ำเกินปกติ ไม่พูดเป็นประโยคแต่พูดเป็นคำ ๆ ชอบทวนคำถามมากกว่าตอบคำถาม
  • ดูไม่ค่อยเข้าใจเวลาใครพูดด้วย ไม่ตอบสนองเวลาคนเรียกชื่อ หลงทิศทาง
  • ร้องไห้ หัวเราะ กรีดร้อง แบบผิดกาลเทศะ
  • ไม่สนใจอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกันเหมือนเด็กในวัยนี้ทั่วไป แต่ละครั้งจะเพ่งความสนใจไปที่สิ่ง ๆ เดียว เช่น สนใจแต่ล้อรถยนต์ของเล่น
  • ไม่ค่อยแสดงท่าทางเลียนแบบผู้ใหญ่หรือคนรอบข้าง และไม่ชอบมีส่วนร่วมในการเล่นบทบาทสมมติ เช่น การเล่นขายของ
  • ชอบเล่นคนเดียว ไม่ค่อยสนใจเด็กคนอื่น เวลามีของเล่นก็จะไม่แบ่งให้ใครเล่นด้วย หรือไม่สนใจจะสลับของเล่นกับเพื่อน
  • มีวิธีเล่นแบบแปลก ๆ เช่น เปิดปิดประตูซ้ำแล้วซ้ำอีก เอาตุ๊กตามาวางซ้อนกัน หมกมุ่นกับการกดปุ่มเดิม ๆ บนของเล่น หมุนล้อรถยนต์ของเล่นไม่ยอมเลิก
  • ไม่มีความยืดหยุ่น มักยึดติดกับกิจวัตรแบบเดิม ๆ ไม่ยอมปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลง เช่น รู้สึกเศร้า หรือโมโห เกรี้ยวกราด เมื่อต้องเดินทางไปเนอสเซอรี่ด้วยเส้นทางอื่น ที่ไม่ใช่เส้นทางประจำ ชอบกินขนมเดิม ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนไปกินอย่างอื่น
  • มักทำตัวเองเจ็บตัว เช่น กัดตัวเอง ทุบตีตัวเอง
  • ชอบแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น ปรบมือ สะบัดแขน
  • ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ไม่ยอมให้แตะตัว เจอเสียงดังแล้วหงุดหงิด ไวต่อกลิ่นมาก 
  • มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเจ็บปวดบางอย่างมากเกินเหตุ หรือเฉยชาเกินกว่าที่ควร เช่น ยกมืออุดหูเวลาเจอเสียงดัง แต่ไม่สนใจเวลาหกล้มเลือดออก
  • กลัวสิ่งที่ไม่สมควรกลัว แต่กลับเฉยชากลับสิ่งที่ควรกลัว เช่น กลัวลูกโป่ง แต่ไม่กลัวความสูง
  • มีปัญหาในการนอน ซึ่งเด็กที่เป็นโรคออทิสติกส่วนใหญ่มักมีปัญหานอนไม่หลับ ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ หรือตื่นเช้ามาก
  • มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ไม่ยอมมีส่วนร่วม ชอบต่อต้าน ชอบขัดขืน กระตือรือร้นจนเกินพอดี อารมณ์ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว

การดูแลเด็กออทิสติก

โรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีอาจช่วยเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้แบบปกติมากที่สุด อันประกอบไปด้วยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างนักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด รวมถึงคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • การใช้ยา คุณหมออาจแนะนำยาริสเพอริโด (Risperidone) เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) เพื่อควบคุมอารมณ์ผู้ป่วยให้มีสมาธิและสงบมากขึ้น
  • เรียนรู้ทักษะการเข้าสังคม การสื่อสาร ภาษา เช่น สอนให้รู้จักชื่อตนเอง ชื่อคนในครอบครัว การใช้ท่าทางต่าง ๆ ในการสื่อความหมาย
  • สอนให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น การรับประทานอาหาร สวมเสื้อผ้า ฝึกพูด 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Does My Child Have Autism?. https://www.helpguide.org/articles/autism-learning-disabilities/does-my-child-have-autism.htm. Accessed January 3, 2020

Does my baby have autism? Infant behaviours that may predict ASD . https://autismawarenesscentre.com/does-my-baby-have-autism-infant-behaviours-that-may-predict-asd/. Accessed January 3, 2020

What are the Early Signs of Autism?. https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/Autism/Pages/Early-Signs-of-Autism-Spectrum-Disorders.aspx. Accessed January 3, 2020

Autism Symptoms That Can Show Up in Babies Before Their 1st Birthday. https://www.healthline.com/health-news/signs-of-autism-in-children-less-than-1-year-old#Is-early-intervention-appropriate?. Accessed January 3, 2020

Early signs of autism. https://www.babycenter.com/0_early-signs-of-autism_10396941.bc#articlesection1. Accessed January 3, 2020

Early signs of autism. https://autismsciencefoundation.org/what-is-autism/early-signs-of-autism/. Accessed January 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/12/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลี้ยงลูกยุคดิจิทัล กับ 4 รูปแบบการเลี้ยงดูลูกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจ

ประโยชน์ของการฝึกให้ทารกว่ายน้ำ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา