backup og meta

ทารกไม่ยอมนอน สาเหตุและวิธีแก้ไข

ทารกไม่ยอมนอน สาเหตุและวิธีแก้ไข

ทารกไม่ยอมนอน อาจสร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กลัวลูกจะไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หรืออาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น จริง ๆ แล้ว สาเหตุที่ทารกไม่ยอมนอน อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ความหิว ความตื่นตัว ติดพ่อแม่ ป่วย มีสิ่งรบกวน ปัจจัยเหล่านี้สามารถกระทบการนอนหลับของทารกอาจทำให้ทารกไม่ยอมนอนหรือตื่นกลางดึกบ่อยครั้ง การจัดการให้ทารกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นและจัดตารางการนอนอย่างเหมาะสมอาจช่วยให้ทารกนอนหลับง่ายขึ้น

[embed-health-tool-vaccination-tool]

สาเหตุที่ทารกไม่ยอมนอน

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ทารกนอนไม่ยอมนอนในตอนกลางคืน อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

  • ทารกหิว ความหิวเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ทารกไม่ยอมนอนและตื่นกลางดึก เนื่องจากทารกแรกเกิดอาจกินนม ประมาณ 1-1.5 ออนซ์/ครั้งและนมจะถูกย่อยอย่างรวดเร็ว ทำให้ทารกหิวง่ายและหิวบ่อยขึ้น ให้ทารกกินนมให้อิ่มแต่พอดี อย่าให้อิ่มมากเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องอืดและทำให้นอนหลับไม่สนิทได้
  • ทารกไม่รู้สึกเหนื่อย ทารกอาจยังรู้สึกสดชื่นมาก เพราะกำลังเล่นหรือเจอสิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจทำให้ทารกไม่รู้สึกเหนื่อยหรือง่วงนอน รวมถึงการนอนมากในตอนกลางวัน อาจทำให้ไม่เหนื่อยหรือง่วงนอนตอนกลางคืน
  • ทารกต้องการพ่อแม่ ทารกบางคนอาจติดพ่อแม่มาก อยากเล่นกับพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงในเวลากลางคืนจนไม่ยอมนอน หรือหากไม่มีพ่อแม่มากล่อมนอนอาจทำให้ทารกไม่ยอมนอน
  • ทารกไม่สบาย อาจทำให้ทารกรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแงจนไม่ยอมนอน เช่น กรดไหลย้อน ฟันน้ำนมกำลังงอก เป็นหวัด ภูมิแพ้ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก
  • ทารกไม่รู้ว่าเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวัน ทารกบางคนอาจเคยชินกับการนอนตอนกลางวันเป็นเวลานานจนอาจทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน หรือแสงไฟสว่างจากภายนอกอาจทำให้ทารกเข้าใจว่ายังเป็นตอนกลางวันและยังไม่ถึงเวลานอน
  • มีสิ่งรบกวนการนอนของทารก ทารกมักอ่อนไหวต่อแรงกระตุ้นรอบตัวได้ง่าย หากบรรยากาศในห้องไม่อำนวยต่อการนอนหลับของทารก เช่น เสียงดัง มีแสงสว่างมาก อาจทำให้ทารกนอนหลับยากขึ้นและไม่ยอมนอน นอกจากนี้ แม่ที่ดื่มเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีนอาจทำให้ทารกที่กินนมแม่นอนหลับยากขึ้น เนื่องจากคาเฟอีนที่อยู่ในน้ำนมแม่อาจทำให้ทารกตื่นตัว ซึ่งขัดขวางการนอนหลับของทารก

ทารกไม่ยอมนอน ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

การนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมองของทารก ทั้งด้านการตอบสนอง พัฒนาความจำและการเรียนรู้ ซึ่งโดยปกติทารกต้องการนอนหลับประมาณ 10-12 ชั่วโมง/คืน หากทารกไม่ยอมนอนอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการได้ ดังนี้

  • พัฒนาการทางสมอง การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น การพัฒนาด้านความจำและการเรียนรู้อาจช้าลง
  • พัฒนาการทางร่างกาย การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่ทำงานระหว่างการนอนหลับ ซึ่งอาจกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การสร้างกล้ามเนื้อ การซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อ

นอกจากนี้ การพักผ่อนไม่เพียงพอในวัยเด็กกอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ในอนาคต เช่น สภาพจิตใจไม่ดีในวัยรุ่น ความจำ การเรียนรู้ในห้องเรียนพัฒนาได้ช้า

วิธีช่วยให้ทารกนอนหลับง่ายขึ้น

เพื่อช่วยให้ทารกรู้เวลาการนอนหลับและนอนหลับได้ยาวนาน การทำกิจกรรมบางอย่างก่อนนอนอาจเป็นสัญญาณที่ช่วยย้ำเตือนให้ทารกรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว ดังนี้

  • การอาบน้ำก่อนนอนและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ จะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวขึ้น
  • การกินนมก่อนนอน ช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้น ไม่หิวและตื่นกลางดึก
  • การอ่านหนังสือนิทานกล่อมนอน ร้องเพลงกล่อมนอน อาจช่วยเด็กรู้สึกเพลิดเพลินและเคลิ้มหลับได้เอง
  • การนวดตัวเด็กเบา ๆ หรือตบก้นกล่อมนอน ช่วยให้เด็กรู้สึกสบายและผ่อนคลายมากขึ้น
  • การห่อตัวทารก อาจช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย
  • การให้จุกนมหลอก ลดอาการร้องไห้งอแงอยากกินนม โดยเฉพาะทารกบางคนอาจร้องไห้ขอนมทั้งที่เพิ่งกินนมไปไม่นาน
  • การจูบราตรีสวัสดิ์ อาจทำให้เด็กรู้สึกถึงความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่
  • การหรี่ไฟให้มืดลงและสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ช่วยให้เด็กหลับได้ยาวนานขึ้น ลดการตื่นตกใจกลางดึก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Babies and Sleep. https://www.sleepfoundation.org/baby-sleep. Accessed February 2, 2022

Uninterrupted Infant Sleep, Development, and Maternal Moo. https://publications.aap.org/pediatrics/article/142/6/e20174330/37494/Uninterrupted-Infant-Sleep-Development-and. Accessed February 2, 2022

Baby naps: Daytime sleep tips. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/baby-naps/art-20047421.

Sleep 0 – 3 months. https://www.healthywa.wa.gov.au/Articles/S_T/Sleep-0-3-months. Accessed February 2, 2022

Sleep and your baby. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/sleep-and-your-baby. Accessed February 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น

พัฒนาการทารก 2 เดือน และวิธีดูแลทารกที่เหมาะสม


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา