การฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้ โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้นไป หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ อีกทั้งยังควรปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น ให้ลูกสวมหน้ากากอนามัย ฝึกให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ และไม่ควรพาลูกไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีผู้คนมาก เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
ทำไมเด็กจึงควรรับการฉีดวัคซีนโควิด-19
โรคโควิด-19 สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้แต่วัยเด็ก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยระบุว่า เด็กอายุแรกเกิด-18 ปี ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ เดือนเมษายน-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีทั้งหมด 310,648 ราย เสียชีวิตสะสม 59 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในเด็กลดลงต่อเนื่อง และมีจำนวนเด็กเสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ
การพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยสร้างแอนติบอดี ลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง และลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่น ๆโดยเฉพาะเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสตามกำหนด อายุที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจเริ่มตั้งแต่อายุ 5 ขวบ สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่าควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาชัดเจนมากเพียงพอ
ชนิดของวัคซีนโควิด-19 ที่เหมาะสำหรับเด็ก
สำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-17 ปี อาจเหมาะสำหรับวัคซีน Pfizer-BioNTech สำหรับเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจเหมาะสำหรับวัคซีน Pfizer-BioNTech หรือ Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ควรฉีดให้ครบ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เด็กอาจได้รับวัคซีนในปริมาณที่ต่ำกว่าผู้ใหญ่ โดยคุณหมออาจฉีดให้เด็กในประมาณ 10 ไมโครกรัม ในขณะที่ผู้ใหญ่จะได้วัคซีนในปริมาณ 30 ไมโครกรัม
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็ก มีดังนี้
- ผู้ปกครองควรให้ลูกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน
- ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 14 วัน ยกเว้นการฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็นตามการพิจารณาของคุณหมอ
- สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมถึงเด็กที่ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาท พัฒนาการล่าช้า ควรได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่ากลุ่มเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง เพราะอาจมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19
- หลังจากฉีดวัคซีนไม่ควรให้เด็กทำกิจกรรม ออกกำลังกาย วิ่งเล่นอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- เด็กและวัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือน อยู่ในช่วงให้นมบุตร หลังคลอดบุตร สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ สำหรับวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์อาจเข้ารับการฉีดได้ต่อเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หากมีความกังวลถึงความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19
- เด็กที่หายจากโรคโควิด-19 มีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโควิด และเป็นโรคคาวาซากิ (Kawasaki) ควรเว้นระยะการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ 1-3 เดือน สำหรับเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมา ควรฉีดวัคซีนทันทีเมื่อครบกำหนด 90 วัน
- สำหรับเด็กที่มีประวัติเสี่ยงใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ควรเลื่อนการฉีดวัคซีน จนกว่าจะได้รับผลตรวจว่าไม่ติดเชื้อ
ผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19
ผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต มีดังนี้
- เจ็บปวดแขน แดง บวม บริเวณที่ฉีด
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- มีไข้ หนาวสั่น
- คลื่นไส้
- เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า
- เบื่ออาหาร
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง แต่หากเด็กมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หน้ามืด หมดสติ ควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอในทันที และแจ้งอาการให้ทราบ เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
[embed-health-tool-vaccination-tool]