ผดร้อน ทารก พบบ่อยในทารกแรกเกิดช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจาก ท่อเหงื่อของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงอาจทำให้เหงื่ออุดตันในรูขุมขนง่ายขึ้นและเกิดเป็นผดร้อน ลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ สีแดง อาจมีอาการคันหรือแสบร้อน โดยปกติไม่ทำให้มีไข้ มักพบบริเวณลำตัวด้านหน้าอกและด้านหลัง คอ บริเวณข้อพับ และบริเวณใต้เสื้อผ้าที่เสียดสีหรือไม่ระบายอากาศ การดูแลทารกจึงอาจช่วยป้องกันผดร้อนที่ระคายเคืองผิวทารกได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ผดร้อน ทารก เกิดขึ้นได้อย่างไร
ผดร้อน ทารก เป็นอาการผดผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของทารก อาจทำให้มีตุ่มเล็ก ๆ สีแดง มีอาการแสบร้อนและคัน เนื่องจาก ความร้อนที่สูงเกินไป มักเกิดขึ้นบริเวณหลัง หน้าท้อง คอ หน้าอก ขาหนีบ หรือรักแร้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการที่ทารกยังมีต่อมเหงื่อขนาดเล็ก และร่างกายของทารกยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้ และในบางครั้งยังไม่สามารถมีเหงื่อไหลออกมาได้ ทำให้เหงื่อสะสมอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ทารกจึงมีแนวโน้มเป็นผดร้อนมากกว่าวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าของทารกที่คับแน่นเกินไป การห่อตัว หรือการห่มผ้าห่ม ก็อาจทำให้เกิดความร้อนและเกิดผดร้อน ทารกได้เช่นกัน ผดร้อนแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ผดผื่นชนิดตุ่มน้ำใส (Miliaria Crystallina) เกิดจากการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อในชั้นผิวของหนังกำพร้า มักพบในทารกแรกเกิดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมอบอุ่นและชื้น เช่น การห่อตัว การห่มผ้า เนื่องจาก ต่อมท่อเหงื่อยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ทำให้เหงื่ออาจอุดตันได้ง่าย มีลักษณะเป็นตุ่มใสขนาดเล็กประมาณ 1-2 มิลลิเมตร พบบ่อยบริเวณศีรษะ คอ และลำตัว
- ผดผื่นชนิดตุ่มแดง (Miliaria Rubra) เกิดจากการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อในชั้นใต้ของหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็กประมาณ 2-4 มิลลิเมตร และมีอาการคัน มักเกิดบริเวณจุดเสียดสี เช่น ซอกคอ ขาหนีบ รักแร้ และรอยพับของผิวหนัง
- ผดผื่นชนิดตุ่มแดงรุนแรง (Miliaria Profunda) เป็นผื่นความร้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจทำให้หน้าแดง แสบร้อน ซึ่งทารกที่มีผื่นชนิดตุ่มแดงขั้นรุนแรงอาจมีอาการอ่อนเพลียจากความร้อน หรือผื่นอาจติดเชื้อได้
อาการผดร้อน ทารก
อาการผดร้อน ทารก มักเกิดขึ้นบริเวณคอ หน้าอก ลำตัว และบริเวณรอยพับของผิวหนังที่มีความร้อนและอับชื้นบริเวณที่เหงื่ออก โดยปกติไม่ทำให้มีไข้หรือความเจ็บป่วยอื่น ๆ
ลักษณะของผดร้อน ทารก มี 4 ชนิด อาจมีอาการแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- Miliaria Crystallina มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก อาจแตกง่ายเมื่อสัมผัส ไม่มีอาการคันและสามารถหายเองได้ ในเด็กเล็กมักเกิดขึ้นบริเวณหน้าและลำตัว
- Miliaria Rubra เป็นลักษณะผดร้อนที่พบบ่อย มักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอบอ้าว อาการเป็นผื่นเป็นตุ่มแดง คัน และอาจแสบร้อนในเด็ก มักพบบริเวณลำตัวส่วนบน
- Miliaria Pustulosa เป็นลักษณะผดร้อนรุนแรงที่เป็นมากและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นตุ่มหนอง และอาจติดเชื้อจากการเกาได้
- Miliaria Profunda ลักษณะผดร้อนเรื้อรังพบได้น้อย ผื่นเป็นตู่มนูนสีขาวขนาด 1-3 มิลลิเมตร พบได้บริเวณลำตัวและแขนขา
หากทารกมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบคุณหมอทันที
- ทารกร้องไห้ไม่หยุด
- มีไข้ หนาวสั่น ติดเชื้อ มีผื่นแดงรุนแรงหรือมีหนองไหล
- ทารกมีอาการไข้หนักขึ้นและยาวนาน
- ปวด บวม แดง หรือร้อยวูบวาบมากขึ้นบริเวณผื่น
- ผื่นเกิดขึ้นเป็นเวลานานเกิน 3 วัน
- ผื่นตุ่มพอง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองมีสะเก็ด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผดร้อน ทารก มีดังนี้
- อาศัยอยู่ในภูมิประเทศหรือสภาพอากาศร้อนชื้นและอบอ้าว
- ใส่เสื้อผ้าไม่เหมาะสมกับฤดูกาล เช่น ใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปในฤดูร้อนทำให้เหงื่อออกมาก ผิวหนังร้อนและชื้น
- ทารกแรกเกิดที่ห่อตัวเพื่อสร้างความอบอุ่น โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนอบอ้าว
- อยู่ใกล้แหล่งความร้อนมากเกินไปหรือเป็นเวลานาน เช่น โคมไฟ เตาทำความร้อน
การรักษาและการป้องกันที่บ้าน
การป้องกันและการรักษาผดร้อน ทารก ด้วยตนเองที่บ้าน อาจทำได้ดังนี้
- เลือกเสื้อผ้าที่สัมผัสอ่อนนุ่มไม่ระคายเคือง โปร่งสบาย ไม่คับแน่นจนเกินไป
- ในช่วงฤดูร้อนหรือมีอากาศร้อนอบอ้าว หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนาเกินไปให้ทารก หรือห่อตัวทารกเป็นระยะเวลานาน
- เมื่ออากาศภายนอกร้อนมากให้อยู่ในอาคาร หรือบ้านที่เปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลม เพื่อทำให้ผิวเย็นสบาย ลดเกิดผดร้อน
- อาบน้ำเย็นและใช้สบู่อ่อนโยนที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง ปล่อยให้ผิวแห้งเองแทนการเช็ดตัว เพื่อให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นมากที่สุด
- หากทารกมีอาการคันให้ใช้คาลาไมน์หรือประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการคันและความระคายเคืองผิว
- หลีกเลี่ยงขี้ผึ้งหรือครีมที่มีส่วนผสมของปิโตเลียมหรือน้ำมัน เพื่อลดการอุดตันของรุขุมขน