คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกคลอดออกมาสมบูรณ์ แข็งแรง บางคนยังมีความเชื่อที่ว่าเมื่อคลอดออกมาแล้ว ลูกตัวใหญ่ มากเท่าไหร่ยิ่งดีมากเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย แต่คลอดลูกออกมาตัวใหญ่นั้นดีจริงหรือไม่ มีอะไรที่ควรกังวลหรือเปล่า ตัวขนาดไหนจึงจะถือว่าสุขภาพดี
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ลูกตัวใหญ่ สุขภาพดีจริงหรือไม่
เด็กที่ตัวใหญ่ จ้ำม่ำนั้นถือเป็นเด็กที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของเด็ก ๆ นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกนั้นจะเป็นช่วงที่ร่างกายของทารกจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นมากเป็น 2 เท่า และน้ำหนักมักจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วงอายุ 1 ขวบ ดังนั้น การที่ ลูกตัวใหญ่ นั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเขานั้นไม่แข็งแรง แต่เป็นช่วงที่เขากำลังพัฒนาและเติบโต
ในช่วงนี้ร่างกายของเขาก็มีความต้องการอาหารอยู่แทบจะตลอดเวลา โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง อย่างน้ำนม วัยนี้เป็นวัยที่อยู่ในการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมองนั้นมีความต้องการพลังงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาต้องกักเก็บไขมันไว้ที่ใต้ผิวหนัง เพื่อที่จะนำไขมันมาใช้งาน จึงทำให้เด็กในวัยนี้ดูตัวใหญ่ อ้วนเป็นชั้น แต่พ่อแม่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะว่าไขมันเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติของเด็กทุก ๆ คน ที่สำคัญยังแสดงให้เห็นว่าลูกน้อยนั้นสุขภาพดี
น้ำหนักของเด็กที่ควรจะเป็น
เด็กทุก ๆ คนมีอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันออกไป แต่น้ำหนักเหล่านี้เป็นการประมาณการ คร่าว ๆ ของช่วง 1 ปีแรก ว่าพวกเขาควรมีน้ำหนักเท่าไร
ช่วงอายุ | ความสูงที่เพิ่มขึ้น | น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น |
แรกเกิด- 6 เดือน | สูงขึ้น 0.5-1 นิ้ว/เดือน | หนักขึ้น 150-200 กรัม/สัปดาห์ |
6-12 เดือน | 0.38 นิ้ว/เดือน | 85-150 กรัม/สัปดาห์ |
น้ำหนักของเด็กที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีสุขภาพที่ดี แต่เด็กแต่ละคนก็มีอัตราในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน เด็กบางคนเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น ๆ ในขณะที่เด็กบางคนนั้นน้ำหนัก ส่วนสูงเพิ่มขึ้นช้ากว่า แต่ระดับการเพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างคงที่ และอยู่ในเกณฑ์ก็ถือว่าสุขภาพยังดีอยู่
ปัจจัยที่ทำให้ ลูกตัวใหญ่ กว่าเด็กคนอื่น ๆ
น้ำหนักของเด็กและอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยบางอย่างเป็นเรื่องที่ไม่สามารภควบคุมได้ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักและความสูงของพ่อแม่นั้นสามารถส่งผลต่อน้ำหนักและความสูงของลูกได้ด้วย ในครอบครัวที่ทั้งพ่อแม่นั้นสูง ลูกก็มีแนวโน้มว่าจะสูงตามด้วย
ในขณะที่ตั้งครรภ์คุณแม่มีน้ำหนักมากกว่าปกติหรือเป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ หรือมีเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ก็จะส่งให้ลูกนั้นมีน้ำหนักมากกว่าปกติหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ในภายหลังได้ นอกจากนี้เด็กทารกที่กินนมแม่ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง เพราะการชงนมผงให้อาจจะได้รับมากเกินไป บางครั้งชงให้หนึ่งขวด แม้ว่าเขาจะอิ่มแล้วแต่ก็ยังคงดูดหมด จนทำให้เขาได้รับอาหารเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ เด็กตัวใหญ่ กว่าปกติด้วย เช่น
- ได้รับอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำนม
- นอนหลับน้อยเกินไป
- ได้รับขนมและน้ำผลไม้เพิ่มเติม