เด็ก 1 ขวบ เป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงจากเด็กทารกไปเป็นเด็กวัยเตาะแตะที่กระตือรือร้นและสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กวัยนี้สามารถสื่อสารและแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้หลากหลายขึ้น พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ โดยทั่วไปที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต เช่น หยิบอาหารเข้าปากเองได้ ชอบใช้นิ้วชี้วัตถุหรือรูปภาพ พูดคำที่มีความหมายได้เป็นครั้งแรก
การพูดคุย รับฟัง ร้องเพลง เล่านิทาน กระตุ้นให้เด็กขยับร่างกายบ่อย ๆ และให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์ อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย การสื่อสาร สังคม และสติปัญญาให้เป็นไปตามวัย ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กอาจมีพัฒนาการผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ในด้านต่าง ๆ อาจมีดังนี้
พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์
- ยื่นนิทานให้คุณพ่อคุณแม่เมื่อต้องการฟังหรือดูหนังสือนิทานไปพร้อม ๆ กัน
- ร้องไห้เมื่อไม่เห็นคนคุ้นเคย
- เขินอายเมื่ออยู่ใกล้คนแปลกหน้า
- มีสิ่งของที่ชอบ เช่น ของเล่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา และมักถือของสิ่งนั้นไว้เสมอ
- พูดทวนคำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนที่อยู่ด้วย
พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร
- เรียกคุณพ่อคุณแม่ว่า “ป๊า แม่” หรือเรียกชื่อคนคุ้นเคยได้แล้ว
- โบกมือไปมาเพื่อบอกลาได้
- พยายามพูดทวนคำที่ได้ยินจากคนอื่น
- เข้าใจคำศัพท์ง่าย ๆ เช่น คำว่า “ไม่” และอาจชะงักหรือหยุดทำสิ่งที่ถูกห้าม
- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบของชิ้นเล็ก ๆ หรืออาหารขนาดพอดีนิ้วได้
- ปฏิบัติตามคำสั่งง่าย ๆ ที่ขอให้ทำได้
- อาจขอให้ช่วยหยิบหรือทำสิ่งต่าง ๆ ให้ด้วยการชี้ไปที่วัตถุนั้น ๆ
พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว
- เดินได้แล้ว แต่ก็ยังชอบคลานอยู่
- นั่งเองได้โดยไม่ต้องให้ช่วย
- ยันตัวลุกขึ้นเองได้
- เคลื่อนไหวเตาะแตะไปเรื่อย ๆ เช่น เดินเกาะไปตามโซฟา เก้าอี้ โต๊ะ
พัฒนาการด้านสติปัญญา
- เลียนแบบท่าทางการเคลื่อนไหวของคนรอบข้าง เช่น ท่าทางการแปรงฟัน
- มองหาสิ่งของส่วนตัวที่คนนำไปซ่อนหรือวางไว้ที่อื่น เช่น หาตุ๊กตาใต้ผ้าห่ม
- จดจำใบหน้าของตัวเองในกระจกได้
- ดื่มน้ำจากถ้วยหรือแก้วได้ และใช้ของใช้ต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
- ชี้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ เช่น จมูก ผม ตา เมื่อถามว่าแต่ละส่วนคืออะไร
อาการและสัญญาณของพัฒนาการผิดปกติ
หากพบว่าเด็กอายุ 1 ขวบ มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กมีพัฒนาการผิดปกติ ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและวางแผนรักษา เพื่อแก้ไขให้เด็กมีพัฒนาการปกติและเหมาะสมตามวัย
- ไม่สบตาคนที่อยู่ตรงหน้า และไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนที่ผ่านสายตา
- ตาเหล่หรือตาเขเป็นประจำ
- ไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบตัว เช่น เสียงของตกแตก เสียงเคาะโต๊ะ
- ไม่ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อหรือมีคนคุยด้วย
- ไม่พูดพึมพำหรือพูดคนเดียวเหมือนเด็กทั่วไป
- ไม่พยายามแสดงออกให้รู้ว่าต้องการอะไรด้วยภาษากาย เสียง หรือคำพูด
- ไม่ชี้สิ่งของหรือรูปภาพ และไม่แสดงท่าทางเพื่อสื่อสาร เช่น โบกมือ ส่ายหน้า
- ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก เช่น ไม่ยิ้มแย้มหรือทำท่ามีความสุข ไม่แสดงอาการเศร้า
- ไม่คลานหรือไม่พยายามเคลื่อนไหวร่างกาย
- ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือเพียงข้างเดียว
- ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ หรือสูญเสียทักษะบางอย่างที่เคยทำได้มาก่อน
ฝึกพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ ได้อย่างไรบ้าง
คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก 1 ขวบได้ดังนี้
- ให้เด็กเล่นของเล่นที่ช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น ของเล่นที่สามารถใส่ของเข้าไปแล้วเทของออกซ้ำไปซ้ำมาได้อย่างชุดน้ำชาของเล่นที่ให้เทน้ำใส่กาน้ำชาและถ้วยชา การตักน้ำใส่ภาชนะหลาย ๆ ชนิด การเติมลูกบอลหลากสีลงไปในถังแล้วแยกตามสี การเล่นของเล่นเหล่านี้เป็นประจำอาจช่วยให้เด็กได้ฝึกสมาธิและการจดจ่อ ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกการทำงานประสานกันของมือและตา และได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เช่น ความเป็นเหตุเป็นผล การแก้ไขปัญหา
- พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ถามว่ากำลังทำอะไร และควรฟังเด็กพูดและตอบกลับอย่างตั้งใจ เพื่อช่วยเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารให้เด็ก และช่วยให้เด็กเข้าใจความหมายของคำศัพท์ต่าง ๆ มากขึ้น
- การอ่านหนังสือนิทาน การเล่านิทาน และการร้องเพลงกล่อมนอน นอกจากจะช่วยส่งเสริมทักษะการพูดและจินตนาการของเด็กแล้ว ยังอาจช่วยสานสัมพันธ์ของคุณพ่อคุณแม่และเด็กให้แนบแน่นมากขึ้นด้วย
- ให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์ จัดเตรียมอาหารให้มีขนาดพอดีคำและเด็กสามารถใช้มือหยิบจับเข้าปากเองได้ เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือและส่งเสริมการทำงานประสานกันของมือและตา เมื่อเด็กชินกับการกินอาหารเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องป้อนข้าวเด็กเองทุกมื้อ ช่วยให้เด็กสามารถพึ่งพาตัวเองได้เร็วขึ้น
- ให้เด็กเล่นกับกระจกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้เกี่ยวกับใบหน้าของตัวเอง และอาจช่วยให้เด็กตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านอารมณ์และสังคมของเด็กต่อไป
- กระตุ้นให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายและทำกิจกรรมทางกายบ่อย ๆ เช่น เรียกให้เดินไปหา เล่นรับส่งบอลพลาสติกในสนามหญ้าข้างบ้าน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่เล่นหรือทำกิจกรรมปลอดภัย เช่น มีรั้วกั้นถนน ไม่มีอุปกรณ์แหลมคม หรือวัตถุที่อาจติดคอหรือทำให้เด็กสำลักได้ และควรเฝ้าดูการเล่นของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเกิดอุบัติเหตุจะได้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที