คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าเด็ก ฟันขึ้นตอนกี่เดือน ปกติแล้วเด็กจะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ฟันหน้าซี่ล่างอาจจะงอกขึ้นมาก่อน ดังนั้น การดูแลรักษาสุขภาพฟันของเด็กตั้งแต่ซี่แรกจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยป้องกันปัญหาฟันผุของเด็ก
[embed-health-tool-vaccination-tool]
เด็ก ฟันขึ้นตอนกี่เดือน
เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 3 เดือน จะเริ่มมีการพัฒนาของน้ำลายในช่องปากมากขึ้น และจะเริ่มเรียนรู้ทักษะการใช้ปาก เช่น การเอามือเข้าปาก หยิบสิ่งของเข้าปาก การกัด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อาจแสดงถึงพัฒนาการในการเรียนรู้วิธีใช้ปากของเด็ก และส่วนใหญ่จะเริ่มมีฟันซี่แรกเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 6-12 เดือน โดยฟันซี่แรกที่งอกขึ้นมาอาจเป็นฟันหน้าซี่ล่าง และฟันน้ำนมจะงอกขึ้นครบทุกซี่ในช่วงอายุประมาณ 3 ขวบ อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจมีการงอกของฟันที่ช้าจึงทำให้ไม่มีฟันเกิดขึ้นเลยในช่วงขวบปีแรก
พัฒนาการของฟันน้ำนมเด็กที่เกิดขึ้นตามช่วงอายุ อาจมีดังนี้
ฟันล่าง
- ฟันตัดหน้าซี่กลาง (Central Incisor) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6-10 เดือน
- ฟันหน้าตัดหน้าซี่ข้าง (Lateral Incisor) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 10-16 เดือน
- ฟันเขี้ยว (Canine) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 17-23 เดือน
- ฟันกรามซี่แรก (First Molar) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 13-19 เดือน
- ฟันกรามซี่ที่สอง (Second Molar) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 25-33 เดือน
ฟันบน
- ฟันตัดหน้าซี่กลาง (Central Incisor) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 8-12 เดือน
- ฟันหน้าตัดหน้าซี่ข้าง (Lateral Incisor) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 9-13 เดือน
- ฟันเขี้ยว (Canine) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 16-22 เดือน
- ฟันกรามซี่แรก (First Molar) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 13-19 เดือน
- ฟันกรามซี่ที่สอง (Second Molar) งอกขึ้นเมื่ออายุประมาณ 25-33 เดือน
สัญญาณฟันขึ้นของเด็ก
เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกงอก เด็กบางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม สัญญาณส่วนใหญ่ที่บ่งบอกว่าฟันซี่แรกกำลังงอก อาจมีดังนี้
- เหงือกบวมแดง และเจ็บปวดบริเวณเหงือกที่มีฟันงอก
- ตัวร้อนและมีไข้
- น้ำลายไหลมากกว่าปกติ
- แก้มฝั่งที่ฟันกำลังงอกจะมีสีแดง และอาจมีผื่นขึ้นบนใบหน้า
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ
- เกาหู จับหูตัวเอง เพราะความรู้สึกเจ็บปวด
- คันฟัน เช่น เอามือเข้าปาก กัดสิ่งของที่เอาเข้าปาก
- นอนหลับยากกว่าปกติ
วิธีดูแลสุขภาพฟันของเด็ก
เพื่อให้ฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กมีสุขภาพดีและป้องกันฟันผุ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลสุขภาพช่องปากของเด็ก ด้วยวิธีดังนี้
- ไม่ควรให้เด็กนอนหลับพร้อมขวดนมหรือระหว่างกินอาหาร เพราะนมหรืออาหารที่ค้างอยู่ในปากอาจทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียที่ส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุ
- ดูแลเหงือกของเด็ก ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ค่อย ๆ เช็ดบริเวณเหงือกของเด็กอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรเช็ดเหงือกเด็กทุกครั้งหลังให้นมและก่อนนอน เพื่อช่วยขจัดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดคราบพลัค (Plaque) ซึ่งอาจทำให้ฟันน้ำนมซี่แรกผุได้ เช็ดทำความสะอาดฟองออกเนื่องจากเด็กยังบ้วนปากไม่เป็น
- เมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถแปรงฟันให้เด็กได้ทันที โดยเลือกใช้แปรงขนนุ่ม หัวเล็กสำหรับเด็ก ชุบน้ำโดยไม่ต้องใช้ยาสีฟัน หรือเลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์สำหรับเด็กในปริมาณเล็กน้อย และควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน หรือหลังกินนม
- เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ และมีฟันงอกเพิ่มขึ้น สามารถเรียนรู้วิธีการบ้วนปากและการแปรงฟันได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่อาจเพิ่มปริมาณการใช้ยาสีฟันให้เท่ากับเมล็ดถั่วเขียว และควบคุมการแปรงฟันของเด็กอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน
- เมื่อเด็กมีฟันงอกมากขึ้น สามารถสอนให้เด็กเรียนรู้การใช้ไหมขัดฟันเพิ่มเติม เพื่อช่วยขจัดเศษอาหารที่แปรงสีฟันไม่สามารถกำจัดออกได้หมด