ทารกอุจจาระเป็นเม็ด แข็ง หรือขี้แพะ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าระบบขับถ่ายของทารกอาจมีปัญหา ปกติแล้ว อุจจาระทารกจะเหลวและมีสีที่แตกต่างตามสารอาหารที่ได้รับ แต่หากอุจจาระแห้งหรือเป็นเม็ด มักเป็นสัญญาณว่าทารกมีอาการท้องผูก ซึ่งอาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ การแพ้นมวัว การเปลี่ยนประเภทอาหารที่กิน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีป้องกันทารกอุจจาระเป็นเม็ด และอาการที่อาจต้องพาทารกไปหาคุณหมอ เพื่อที่จะได้รักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุที่ทารกอุจจาระเป็นเม็ด
ทารกอุจจาระเป็นเม็ด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- เปลี่ยนอาหาร เมื่ออยู่ในช่วงที่เปลี่ยนจากการกินนมแม่อย่างเดียวมากินนมผงซึ่งย่อยยากกว่านมแม่ หรือในช่วงเปลี่ยนจากนมผงไปเป็นอาหารแข็งหรืออาหารเสริม ร่างกายทารกอาจยังปรับตัวไม่ทัน จนทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเม็ดได้
- ร่างกายทารกขาดน้ำ หากทารกได้รับของเหลวไม่เพียงพอ อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป หรือมีไข้ ก็อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ และทำให้ทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้
- ให้อาหารเสริมก่อนวัย หากให้ทารกกินอาหารเหลวหรืออาหารเสริมก่อนอายุ 6 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่กระเพาะอาหารยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้ทารกย่อยอาหารได้ไม่ดีนัก และถ่ายอุจจาระเป็นเม็ด
- แพ้นมวัวหรือกินนมวัวเยอะเกินไป ทารกบางคนอาจแพ้นมวัว หรือย่อยนมได้ไม่ดี เนื่องจากมีภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ (Lactose Intolerance) จึงมีอาการท้องผูก อุจจาระเป็นเม็ด นอกจากนี้ การดื่มนมวัว หรือกินผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส เยอะเกินไป ก็อาจทำให้ทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้ เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และไม่สามารถผลิตน้ำย่อยที่เพียงพอต่อการย่อยสารอาหารในนมวัวได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนกินอาหารแข็ง เพราะอาจย่อยได้ไม่ดี และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
- ขาดสารอาหารบางชนิด เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6 เดือน อาจเปลี่ยนจากการกินนมแม่ไปกินนมผงแทน ซึ่งนมผงบางชนิดอาจมีไฟเบอร์หรือใยอาหาร (Fiber) ไม่เพียงพอ และส่งผลให้ทารกมีปัญหาในการขับถ่าย จึงควรดูส่วนผสมของนมผงที่เลือกใช้ว่ามีไฟเบอร์เพียงพอต่อความต้องการของทารกหรือไม่ โดยปริมาณไฟเบอร์ที่แนะนำสำหรับทารก คือ 5 กรัม/วัน และควรเลือนมที่มีส่วนประกอบของโปรไบโอติก ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ทราบประเภทและปริมาณของสารอาหารที่เหมาะสมกับทารกที่สุด
- ชงนมผิดอัตราส่วน หากทารกที่กินนมผงถ่ายอุจจาระเป็นเม็ด อาจเกิดจากการชงนมผิดอัตราส่วน ไม่ตรงกับที่ระบุข้างกล่อง เวลาชงนมผงให้ทารก ควรชงตามอัตราส่วนที่แนะนำบนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในแต่ละยี่ห้ออาจผสมไม่เท่ากัน หรือควรสอบถามคุณหมอ เพื่อให้ทราบปริมาณนมที่เหมาะสมกับทารกที่สุด
- ทารกรู้สึกวิตกกังวล บางครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในบ้าน หรือกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลให้ทารกรู้สึกวิตกกังวลจนอั้นอุจจาระไว้นานหลายวัน ทำให้ท้องผูก และทารกอุจจาระเป็นเม็ดได้
วิธีป้องกัน ทารกอุจจาระเป็นเม็ด
วิธีป้องกัน ทารกอุจจาระเป็นเม็ด อาจมีดังนี้
- สำหรับทารกที่อายุยังน้อยและยังต้องกินนมแม่เป็นหลัก ควรให้ทารกกินนมแม่อย่างเต็มที่ตามช่วงวัย เพื่อให้ได้รับของเหลวและสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ปริมาณนมแม่ที่แนะนำสำหรับทารกแต่ละช่วงวัย อาจมีดังนี้
- ทารกแรกเกิดถึง 2 เดือน ทารกอาจกินนมแม่ได้เพียงครึ่งออนซ์ จากนั้นอาจกินนมแม่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ อาจกินนมได้ประมาณ 2-3 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 16-27 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 8-9 ครั้ง/วัน
- ทารกอายุ 2-4 เดือน ควรกินนมแม่ประมาณ 4-5 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 20-30 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 5-6 ครั้ง
- ทารกอายุ 4-6 เดือน ควรกินนมแม่ประมาณ 4-6 ออนซ์/ครั้ง หรือวันละ 20-36 ออนซ์ โดยให้วันละประมาณ 5-6 ครั้ง
- ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจกินนมแม่ได้มากถึง 8 ออนซ์/ครั้ง โดยให้วันละประมาณ 4-5 ครั้ง/วัน และได้รับอาหารเสริมตามวัย
โดยปกติแล้ว เมื่อทารกได้รับนมแม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทารกจะกลับมาถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 6 ครั้ง/วัน และอุจจาระมักมีลักษณะเป็นปกติ แต่ในบางครั้งทารกบางคนที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวอาจไม่อุจจาระได้ หรือ 2-3 วันถ่ายอุจจาระ ในบางคนเป็นสัปดาห์ถึงจะถ่ายอุจจาระ แต่ท้องต้องไม่อืด ลักษณะอุจจาระที่ออกมาต้องนิ่ม ๆ ไม่แข็งเป็นเม็ด ๆ
- สำหรับทารกที่โตพอและเริ่มกินอาหารแข็งหรืออาหารเสริมแล้ว โดยปกติ คืออายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจเปลี่ยนให้กินอาหารที่มีเนื้อนิ่มและย่อยง่ายขึ้น เน้นอาหารประเภทผักผลไม้ เช่น ผักบุ้ง ผักโขม กล้วย แตงโม ลูกพรุน หรือธัญพืชเต็มเมล็ด (โฮลวีต) เช่น ข้าวบาร์เลย์ ที่มีกากใยอาหารเยอะ โดยอาจนำไปต้ม บด หรือคั้นเป็นน้ำผักผลไม้สด ทารกจะได้กินง่ายขึ้น
ควรไปหาคุณหมอเมื่อไหร่
หากทารกถ่ายอุจจาระออกมามีลักษณะดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณว่าทารกมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันที
อุจจาระเป็นสีดำสนิท อาจหมายถึงมีเลือดออกในทางเดินอาหาร และเลือดในอุจจาระเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อถ่ายออกมา อุจจาระมีลักษณะคล้ายปูนขาว อาจหมายถึงตับของทารกผลิตน้ำดีได้ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ อุจจาระมีสีแดงปน อาจเป็นสีของอาหารหรือยาที่ทารกกินเข้าไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าเป็นเลือดหรือไม่ สามารถให้คุณหมอตรวจสอบได้ ทารกอุจจาระเป็นเม็ด และท้องผูกติดต่อกันหลายครั้ง ถ่ายมีเลือดปน ทารกอุจจาระเป็นเม็ด และท้องผูกติดต่อกันหลายครั้ง ทารกดูซึม ไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลดลง ท้องอืดอาเจียนร่วมกับไม่ถ่ายอุจจาระหลายวัน อาจมีความผิดปกติของลำไส้ได้