backup og meta

นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง ควรชงนมและเก็บรักษาอย่างไร

นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง ควรชงนมและเก็บรักษาอย่างไร

คุณแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเองได้หรือต้องการสลับให้ลูกกินนมชงร่วมด้วย อาจมีข้อสงสัยว่า นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง เพื่อจะได้ยืดระยะเวลาในการเก็บรักษา โดยปกติแล้ว นมชงอาจอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงในอุณหภูมิห้อง และอาจอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมงเมื่อแช่ไว้ในตู้เย็น ดังนั้น คุณแม่จึงควรพิจารณาความต้องการของเด็กเพื่อที่จะชงนมในปริมาณที่พอเหมาะและเก็บนมได้อย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-due-date]

นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง

นมชงโดยทั่วไปอาจอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากชงเมื่ออยู่ในอุณหภูมิห้อง โดยไม่ผ่านการอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสูตรของนมผงและยี่ห้อของนมผงแต่ละชนิดด้วย

สำหรับนมชงที่ยังไม่ป้อนให้ลูกอาจอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อแช่ไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้แช่แข็งนมชงเพราะอาจลดคุณภาพของนมลงได้ และหากเด็กกินนมชงเหลืออาจเก็บนมไว้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากเกินจากนั้นควรทิ้งและชงนมใหม่

วิธีชงนมผงที่เหมาะสม ควรทำอย่างไร

วิธีการชงนมผงที่เหมาะสมให้แก่เด็กอาจทำได้ ดังนี้

  1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนเริ่มชงนมทุกครั้ง
  2. ทำความสะอาดขวดนมและภาชนะทุกชนิดที่ใช้ในการชงนม จากนั้นนำไปต้มหรือเข้าเครื่องฆ่าเชื้อ และควรสะบัดน้ำออกจากภาชนะที่ใช้ชงนมจนหมด หรือตากให้แห้งสนิท
  3. เช็ดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณที่ต้องวางภาชนะในการชงนม
  4. ต้มน้ำร้อนในกาต้มน้ำด้วยน้ำใหม่ทุกครั้ง ไม่ควรใช้น้ำที่ผ่านการต้มมาก่อน เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนในน้ำ
  5. เมื่อต้มน้ำจนเดือด ควรทิ้งน้ำไว้ประมาณ 30 นาที ให้น้ำมีอุณหภูมิลดลงจนเหลือประมาณ 70 องศาเซลเซียส
  6. เติมน้ำอุ่นที่ต้มไว้ ตามด้วยนมผงสูตรที่ต้องการ ควรใช้ช้อนตักนมผงที่ให้มาในกล่องเพื่อให้ได้ปริมาณที่ถูกต้องตามสูตร
  7. ประกอบจุกนมกับฝารูปวงแหวน โดยการนำจุกนมสอดเข้าไประหว่างช่องว่างฝา จากนั้นดันให้แน่นสนิท
  8. นำฝาและจุกนมที่ประกอบแล้วปิดขวดนมที่เติมนมผงและน้ำเรียบร้อยแล้ว จากนั้นเขย่าขวดนมจนนมผงละลายจนหมด ไม่ใช้นิ้วปิดจุกนมโดยตรง
  9. หากนมยังร้อนมากสามารถนำขวดนมไปแช่ในน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อลดความร้อนลง และทดสอบอุณหภูมิของนมด้วยการหยดนมลงบนหลังมือก่อนป้อนให้เด็กเสมอ
  10. หากเด็กกินนมไม่หมดและมีนมเหลืออยู่ในขวด ไม่ควรเก็บไว้เกิน 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กกินในครั้งต่อไป

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการชงนมผง

ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้เมื่อต้องชงนมผงให้แก่เด็ก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

  • ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากข้างบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากนมผงแต่ละสูตรมีคำแนะนำที่แตกต่างกัน
  • ไม่ควรเพิ่มหรือลดปริมาณนมผงในการชงนมเอง เพราะหากผิดสัดส่วนในการชงอาจทำให้เด็กมีอาการท้องผูก ขาดน้ำ หรืออาจไม่ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม เนื่องจากนมผงเจือจางเกินไป
  • ไม่ควรเติมน้ำตาล ซีเรียล หรืออาหารอื่น ๆ ลงไปในนมชง
  • ไม่ควรอุ่นนมผงด้วยไมโครเวฟ เพราะอาจทำให้นมร้อนไม่สม่ำเสมอและอาจทำให้เด็กปากพองได้

วิธีเก็บรักษานมชง

การเก็บรักษานมชงอาจทำได้ ดังนี้

  • เก็บนมชงในภาชนะที่ปิดมิดชิด หากเด็กยังไม่ได้กินทันทีควรเก็บเข้าตู้เย็นเพื่อยืดอายุนม
  • หลังจากชงนมเสร็จควรปิดฝาให้สนิท วางไว้ในที่เย็น แห้งและร่ม ไม่ควรวางไว้ในรถ ที่ร้อนหรือกลางแจ้ง เพราะอาจทำให้นมเสียได้
  • ควรทิ้งนมชงที่เหลืออยู่ในขวดหลังจากป้อนนมเด็ก เนื่องจากน้ำลายเด็กที่เข้าไปผสมในนมชง อาจทำให้แบคทีเรียเติบโตขึ้นเมื่อวางไว้เป็นเวลานาน
  • นมผงสำหรับเด็กส่วนใหญ่ควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือนหลังจากเปิดแล้ว จึงควรเขียนวันที่เปิดบรรจุภัณฑ์ไว้ให้ชัดเจน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to make up baby formula. https://www.nhs.uk/conditions/baby/breastfeeding-and-bottle-feeding/bottle-feeding/making-up-baby-formula/. Accessed November 15, 2022

Infant formula: 7 steps to prepare it safely. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/infant-formula/art-20045791. Accessed November 15, 2022

Step-by-step guide to preparing a formula feed. https://www.nct.org.uk/baby-toddler/feeding/practical-tips/step-step-guide-preparing-formula-feed. Accessed November 15, 2022

Infant Formula Preparation and Storage. https://www.cdc.gov/nutrition/infantandtoddlernutrition/formula-feeding/infant-formula-preparation-and-storage.html. Accessed November 15, 2022

Formula Feeding FAQs: Preparation and Storage. https://kidshealth.org/en/parents/formulafeed-storing.html. Accessed November 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/06/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

นมแม่เก็บได้กี่ชั่วโมง และวิธีเก็บรักษานมแม่ที่ควรรู้

นมสด และ นมผง แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/06/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา